กรุงเทพฯ 9 ก.ย. – เอกชนเครื่องดื่มปรับตัวรองรับรับภาษีน้ำตาล ตั้งแต่ 1 ต.ค. 62 นี้
นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จากการสำรวจความเห็นภาคประชาชน ผู้เชี่ยวชาญ และอุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำตาลส่วนผสม พบว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มปรับลด ปริมาณการใส่น้ำตาลลงพร้อมติดโลโก้แสดงสัญลักษณ์เพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ผู้ที่ให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพมีอายุอยู่ในช่วง 30 ปีลงมา และ 60 ปีขึ้นไป ส่วนอายุในช่วงระหว่าง 30 ถึง 60 ปีไม่ค่อยความสนใจมากนัก
โดยผู้ตอบแบบสำรวจ เกี่ยวกับมาตรการภาษีความหวานและการตระหนักถึงอันตรายจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินความจำเป็นของร่างกาย มีไม่ถึง 50% สะท้อนให้เห็นถึงการประชาสัมพันธ์ที่ไม่เพียงพอตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นต้องเพิ่มช่องทางการสื่อสารที่ได้รับความนิยมสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งควรเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้าที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงเพิ่มมากขึ้น และได้หารือกับคณะทำงาน และผู้ประกอบการเพื่อปรับเปลี่ยนโลโก้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งแสดงสัญลักษณ์ที่ชัดเจนมากขึ้น
สำหรับแนวทางเพิ่มการจัดเก็บภาษีตามปริมาณน้ำตาลโดยเสนอปรับอัตราภาษีแบบขั้นบันไดในทุก 2 ปี สูงสุดถึง 5 บาทต่อลิตร เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีความหวานภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้นและรองรับกับสังคมผู้สูงอายุ โดยการใช้มาตรการภาษีดังกล่าวสนับสนุนให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอย่างดี ในการปรับสูตรการผลิตเพื่อส่งเสริมเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด ส่งผลให้ประชาชนมีทางเลือกในการบริโภคเครื่องดื่มมากขึ้น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามนโยบายในการลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานมากเกินความจำเป็นของร่างกายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 อัตราภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มจะมีการปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มจำเป็นต้องพยายามที่จะมีการปรับสูตรการผลิตเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ส่งต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน และการจัดจัดเก็บภาษีปีที่ผ่านมารายได้ 2,000- 3,000 ล้านบาท และคาคว่าในปีงบประมาณ 2563 เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,500 ล้านบาท
“ยอมรับว่า ประชาชนส่วนใหญ่บริโภคน้ำตาลในปริมาณที่สูงเกินกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 2 ถึง 3 เท่า ต่อการใช้พลังงานของร่างกายในแต่ละวัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ” นายณัฐกร . – สำนักงานข่าวไทย