ภูมิภาค 5 ก.ย.- มวลน้ำจากสุโขทัยประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลเข้าทุ่งบางระกำแล้ว ชลประทานพิษณุโลกเสริมคันดิน พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำรับมือ ขณะที่อธิบดีกรมชลฯ เผยวันที่ 7 ก.ย.นี้ น้ำเหนือปริมาตรสูงสุดจะถึง จ.นครสวรรค์ จากนั้นจะไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา เร่งบริหารจัดการพร้อมรับ
ที่พิษณุโลก ยังมีน้ำท่วมขังในเขต ต.วัดตายม ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม ขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำยมกำลังได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ ผ่าน จ.สุโขทัย ลงมา โดยที่คลองเมม หรือแม่น้ำยมสายเก่า บ้านท่าช้าง อ.พรหมพิราม ระดับน้ำในแม่น้ำยมสายเก่าสูงเกือบล้นตลิ่ง ชาวบ้านห่วงได้รับผลกระทบรีบขนย้ายสิ่งของหนีน้ำท่วมมาอยู่บนถนน ขณะที่ชลประทานพิษณุโลก ระบุมวลน้ำจากสุโขทัยประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลเข้าทุ่งบางระกำ ซึ่งสามารถรองรับน้ำได้อีกถึง 550 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาท ชลประทานได้เสริมคันดินตลิ่งแม่น้ำยมสายเก่า ป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดลุ่มต่ำ
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 กันยายนนี้ น้ำเหนือปริมาตรสูงสุดจะมาถึง จ.นครสวรรค์ จากนั้นจะไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ชลประทานต้องเร่งบริหารจัดการ โดยแบ่งน้ำจากแม่น้ำน่านบางส่วนเข้าไปเก็บกักในบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ และที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาทดให้ระดับน้ำสูงขึ้น เพื่อให้น้ำไหลเข้าไปในแม่น้ำและคลองชลประทาน ก่อนที่จะระบายออกท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยวันนี้ได้ระบายน้ำไปในอัตรา 750 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
อธิบดีกรมชลประทานยังบอกด้วยว่า น้ำเหนือที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ เพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำเหนือจากแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมมีมาก โดยน้ำแม่น้ำน่านได้ใช้บึงบอระเพ็ดหน่วงน้ำ ส่วนน้ำในแม่น้ำยมใช้ทุ่งทะเลหลวงและบางระกำโมเดลช่วยแบ่งน้ำออกไป แต่ยังต้องเฝ้าระวังจุดวิกฤติน้ำล้นตลิ่งพื้นที่ อ.เมืองสุโขทัย และคลองผันน้ำยม-น่าน 2 ซึ่งเป็นจุดทางน้ำไหลผ่านก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
นอกจากนี้ หากตรวจสอบข้อมูลระดับน้ำแม่น้ำสายสำคัญ จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำพบว่า มี 17 พื้นที่เตือนภัยปริมาณน้ำในระดับวิกฤติ เช่น แม่น้ำป่าสัก อ.หนองไผ่ และ อ.เมืองเพชรบูรณ์ แม่น้ำเข็ก แม่น้ำแควน้อย อ.นครไทย และวังทอง จ.พิษณุโลก แม่น้ำห้วยหลวงโขง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี แม่น้ำยม อ.เมืองสุโขทัย
ส่วนพื้นที่ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าระวังพิเศษ เนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มระดับสูงขึ้น เช่น ที่ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร อ.สวรรคโลก และคีรีมาศ จ.สุโขทัย อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ และ อ.เมือง จ.ชัยนาท
หากแยกเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำพบว่า ลุ่มน้ำยม สถานีตรวจวัดในพื้นที่ อ.เมืองสุโขทัย อัตราการไหล 537.30 ลบ.ม./วินาที (สูงสุด 509 ลบ.ม./วินาที) ล้นตลิ่ง 0.23 ม.
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา สถานีตรวจวัดบริเวณค่ายจิรประวัติ อ.เมืองนครสวรรค์ อัตราการไหล 1,324 ลบ.ม./วินาที (สูงสุด 3,590 ลบ.ม./วินาที) ต่ำกว่าตลิ่ง 5.08 ม.
ลุ่มน้ำมูล สถานีตรวจวัดบริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชราชนี อัตราการไหล 2,758 ลบ.ม./วินาที (สูงสุด 2,300 ลบ.ม./วินาที) ล้นตลิ่ง 0.91 ม. และที่สถานีตรวจวัดลำเซบาย บ้านเชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร อัตรการไหล 996.00 ลบ.ม./วินาที (สูงสุด 220 ลบ.ม./วินาที) ล้นตลิ่ง 2.84 ม.
ลุ่มน้ำชี สถานีตรวจวัดบริเวณบ้านฟ้าหยาด อ.มหาชัยชนะ จ.ยโสธร อัตราการไหล 1,570.50 ลบ.ม./วินาที (สูงสุด 1,105 ลบ.ม./วินาที) ล้นตลิ่ง 0.98 ม.-สำนักข่าวไทย