กรุงเทพฯ 4 ก.ย. – กรมชลฯ คาดน้ำเหนือไหลลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาในอีก 3 วันข้างหน้าเพิ่มขึ้น เร่งผันน้ำบางส่วนเข้าไปเก็บกักในบึงบอระเพ็ด เพื่อลดน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์ที่จะไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำน้อยลง
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 กล่าวถึงผลการคาดการณ์สถานการณ์น้ำเหนือที่จะไหลมายังจังหวัดนครสวรรค์วันที่ 7 กันยายนนี้ คาดว่าจะเพิ่มจากที่วัดได้ที่สถานีวัดน้ำ C 2 อำเภอชุมแสงเช้านี้ 1,227 ลูกบาศก์เมตร (ลบ. ม.)/วินาที เป็น 1,340 ลบ.ม./วินาที เพราะน้ำเหนือในแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมยังมีปริมาตรมาก ดังนั้น จึงตัดสินใจผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำน่านเข้าไปเก็บกักในบึงบอระเพ็ด เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งลดปริมาตรน้ำหลากและน้ำในบึงบอระเพ็ดเพิ่มขึ้น ดีต่อการแพร่ขยายพันธุ์สัตว์น้ำและรักษาระบบนิเวศ
นายสุรชาติ กล่าวต่อว่า ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่เวลา 12.00 น.ที่ผ่านมาระบาย 700 ลบ. ม./วินาที ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ หากปริมาตรน้ำที่มาถึงจังหวัดนครสวรรค์อีก 3 วันข้างหน้าอยู่ที่อัตรา 1,340 ลบ. ม./วินาทีดังที่คาดการณ์ เมื่อแบ่งน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง เหนือเขื่อนเจ้าพระยาแล้ว ต้องระบายน้ำท้ายเขื่อนที่อัตราประมาณ 800 ลบ. ม./วินาที ดังนั้น การแบ่งน้ำเข้าเก็บกักในบึงบอระเพ็ดจะช่วยลดปริมาตรน้ำที่จะมาถึงเขื่อนเจ้าพระยาได้ คาดว่าการระบายน้ำท้ายเขื่อนจะอยู่ที่อัตรา 700 กว่าลบ. ม./วินาที เป็นไปตามข้อสั่งการของนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ที่ให้บริหารจัดการแบ่งน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานตามศักยภาพการรับน้ำและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อจังหวัดท้ายเขื่อนมากที่สุด
“ขณะนี้เพิ่มความถี่การตรวจความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทานต่าง ๆ ทั้งเขื่อนเจ้าพระยา อ่างเก็บน้ำของเขื่อนในความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 12 ประตูระบายน้ำ และคลองส่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติฤดูน้ำหลาก ซึ่งพบว่าอาคารชลประทานทุกแห่งมั่นคงแข็งแรงดี” นายสุรชาติ กล่าว . – สำนักข่าวไทย