พม.4 ก.ย.- พม.รับข้อเสนอการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กแว้น จากองค์กรด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) มอบหมายให้นายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้แทนรับข้อเสนอต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กแว้น โดยน.ส.เครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมด้วยแกนนำเครือข่าย จำนวนกว่า 40 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ รมว.พม.
เพื่อแสดงจุดยืนและข้อเสนอต่อกรณีการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กแว้น ซึ่งล่าสุดพบว่ามีการจับกุมปราบปรามอย่างเข้มข้นทั่วประเทศ แต่ยังพบช่องว่างที่ภาครัฐยังขาดกลไกในการบูรณาการทำงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 รวมถึงขาดการสนับสนุนพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออก ปลดปล่อยพลังในทางบวกและรับผิดชอบสังคม
นายสากล กล่าวว่า เครือข่ายฯมีจุดยืนและได้ยื่นข้อเสนอเพื่อให้กระทรวงฯ พิจารณา ดังนี้1.ขอให้กระทรวงบังคับใช้และเร่งประชาสัมพันธ์พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 มาตรา 26 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการ ดังต่อไปนี้บังคับขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทําให้เด็กมี ความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทําผิด มาตรา 78 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่น บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและทำความเข้าใจร่วมกัน หากเกินการกระทำผิดของบุตรหลานภายใต้การดูแล และเพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้ปกครองทำความเข้าใจกับลูกหลานที่จะไม่ทำผิดกฎหมายและส่งผลกระทบถึงครอบครัว
2.ขอให้เน้นไปที่กลไกการทำงานกับครอบครัวในกรณีที่เด็กและเยาวชนถูกจับดำเนินคดี ต้องมีคณะทำงานติดตามช่วยเหลือ รวบรวมข้อมูลเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันทั้งกระทรวง กรม ท้องถิ่น ชุมชนและครอบครัว เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำและเป็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาเด็กแว้นอย่างยั่งยืนทุกภาคส่วน อาจประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาชนเพื่อทำงานหนุนเสริมไปด้วยกัน
3.ขอให้มีการสนับสนุนการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้อย่างแท้จริง มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อ ให้เกิดพื้นที่และกิจกรรมแก่เด็กเยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยเครือข่ายใคร่ ขอให้เริ่มต้นจากการจัดพื้นที่รับฟัง ทำความเข้าใจเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้อย่างเป็นมิตร เพื่อนำมาออกแบบกระบวนการและกิจกรรมที่ตรงตามความต้องการ ซึ่งมิใช่การคิดจากบนลงล่างที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และ
4.นับเป็นโอกาสดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ แต่ไม่ควรเน้นการปราบปรามเพียงเดียวเพราะท้ายที่สุดจะขาดความยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งต้องทำงานทุกมิติและที่สำคัญประชาชนชุมชนต้องช่วย กันหันมาเอาธุระกับเรื่องเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น การช่วยกันเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส เพื่อระงับเหตุก่อนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง อย่าฝากทุกอย่างไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
“สำหรับปัญหาเด็กวัยรุ่นมีความเสี่ยงด้านการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดย เฉพาะปัญหาเด็กแว้น ส่วนใหญ่เกิดจากความคึกคะนองและวัยรุ่นจะชอบอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ รวมตัวกันตอนกลางคืน สร้างการยอมรับในทางที่ผิดมีผลกระทบต่อสังคม สร้างความรำคาญให้ประชาชน สิ่งที่ส่งผลเสียมากที่สุดคือแข่งกันขับรถเร็ว มีจำนวนไม่น้อยที่ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งภาครัฐตำรวจ ฝ่ายปกครองได้มีการจับกุมดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง พม.ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจดูแลด้านเด็กเยาวชน รวมถึงสถาบันครอบครัว ขอบคุณเครือข่ายที่มายื่นข้อเสนอวันนี้ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยจะนำข้อเสนอต่างๆไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป” นายสากล กล่าว.-สำนักข่าวไทย