นนทบุรี 3 ก.ย. – พาณิชย์เตรียมทำลายของกลางกว่า 10 ล้านชิ้น ป้องกันกลับมาหมุนเวียนในตลาด ย้ำยังคงเดินหน้าเร่งปราบปรามและรณรงค์ให้คนตระหนักใช้ของถูกกฎหมายทุกช่องทาง
นายวีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้เชิญตัวแทนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาทั้งไทยและต่างประเทศ และทูตานุทูตจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศสมาชิกอาเซียน เข้าร่วมเป็นพยานในการทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาคดีถึงที่สุดแล้ว จากการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปี 2561 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมศุลกากร รวม 6,939 คดี เป็นของกลาง 10.825 ล้านชิ้น เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เข็มขัด รองเท้า นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ แผ่นซีดี วีซีดี แว่นตา เครื่องสำอาง และบุหรี่ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 550 ล้านบาท วันที่ 12 กันยายนนี้ ที่กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 เขตดอนเมือง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์กลับไปหมุนเวียนในตลาดหรือใช้ได้อีก ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่มีความสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้า นักลงทุน และเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาว่าจะไม่มีสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ไปสู่ท้องตลาดหรือส่งออกไปยังต่างประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงเดินหน้าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) มีการดำเนินคดีแล้ว 2,574 คดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.96 รวมของกลางกว่า 612,000 ชิ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.41 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และได้สั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าหาแนวทางร่วมกันป้องกันและปราบปรามปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเข้มมากขึ้นต่อไป
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า แผนงานรณรงค์ประชาชนตระหนักใช้สินค้าถูกกฎหมายไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้น กรมฯ ได้จัดทำแผนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันที่ 6 กันยายนนี้ กรมฯ ร่วมกับภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสัมมนาเชิงวิชาการเกี่ยวกับการใช้ยาและซื้อยาอย่างถูกต้องและปลอดภัยมีมาตรฐานไม่เป็นอันตรายต่อการบริโภคยาให้กับผู้ที่สนใจ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ออกปราบปรามจับกุมและยึดยาปลอมจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มยาเสริมสุขภาพทางเพศหรือยาไวอาก้าที่มีการนำมาจำหน่ายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และตามสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจากการตรวจสอบยาไวอาก้าที่ยึดมาได้ส่วนใหญ่เป็นการละเมิดเครื่องหมายทางการค้าทั้งสิ้น ขณะที่คุณภาพที่ทาง อย.ตรวจสอบยาบางรุ่นไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น กรมฯ จะร่วมมือรณรงค์ให้คนตระหนักใช้สินค้าที่มีมาตรฐานยิ่งขึ้น ซึ่งโทษของการละเมิดเครื่องหมายการค้าของกรมฯ สูงมาก ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.-สำนักข่าวไทย