นครโฮจิมินห์ 1 ก.ย. – กระทรวงอุตสาหกรรมระบุอีก 2 สัปดาห์ จะสรุปผลเปรียบเทียบมาตรการส่งเสริมการลงทุนไทยกับเวียดนาม พร้อมมาตรการปรับและแนวทางเสริมแรงดึงดูดนักลงทุนที่ดียิ่งขึ้นเสนอรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลการศึกษาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการส่งเสริมการลงทุนระหว่างไทย-เวียดนาม (Round Table) ว่า ผลการศึกษาและเปรียบเทียบมาตรการส่งเสริมการลงทุนของเวียดนามกับประเทศไทย พบว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทยและเวียดนามมีจุดแข็งที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะขณะนี้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนที่ประเทศเวียดนามเช่นกัน โดยเฉพาะเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพีที่มีการจ้างงานมากถึง 23,000 คน และเครือซิเมนต์ไทย เป็นต้น
สำหรับผลสรุปการศึกษาและเปรียบเทียบมาตรการส่งเสริมการลงทุนของเวียดนามกับไทย ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) อยู่ระหว่างสรุป พร้อมนำเสนอมาตรการที่ไทยควรปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อให้ไทยมีศักยภาพดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศมากขึ้น มีกำหนดจัดทำเสร็จอีก 2 สัปดาห์นับจากนี้ หลังจากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณา ซึ่งการลงทุนในเวียดนามปัจจุบันมีนักลงทุนจากเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนเป็นอันดับ 1 ขณะที่ไทยกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงมากที่สุด และจากการเดินทางมาเวียดนามครั้งนี้ยังเห็นศักยภาพของนักลงทุนเวียดนามสามารถขยายการลงทุนออกไปต่างประเทศได้ จึงมีแนวคิดที่จะชักจูงให้นักลงทุนเวียดนามเข้าไปลงทุนไทย เช่น ลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงอุตสาหกรรมที่นักลงทุนเวียดนามมีความสนใจจะลงทุน
นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสที่ผู้นำเกาหลีใต้เดินทางมาร่วมประชุมประเทศไทยและหารือกับนายกรัฐมนตรี ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะชักจูงให้นักลงทุนเกาหลีเข้ามาลงทุนไทยมากขึ้น โดยรัฐบาลไทยจะจัดทำชุดมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ตรงกับความต้องการของนักลงทุนเกาหลี พร้อมให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมนิคมอุตสาหกรรมรองรับนักลงทุนจากประเทศเกาหลีเป็นการเฉพาะ ส่วนด้านบุคลากรจะมีการประสานงานกับกระทรวงการอุดมศึกษาดูแลเตรียมความพร้อมต่อไป เป็นต้น
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนของเวียดนามมีการพิจารณาส่งเสริมการลงทุนตามรายอุตสาหกรรมเป้าหมายและตามพื้นที่ พร้อมให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดสามารถเสนอสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนได้เอง โดยสิทธิประโยชน์จะยิ่งมากขึ้น หากเป็นการลงทุนในพื้นที่ห่างไกลช่วยสร้างความเจริญ ส่วนสิทธิประโยชน์ที่เสนอให้นักลงทุนต่างชาติ เช่น จัดหาที่ดินให้ตั้งโรงงานฟรี ไม่เก็บภาษีจนกว่าจะเริ่มมีกำไร เป็นต้น
สำหรับปัจจัยที่เป็นจุดเด่นของของเวียดนาม ได้แก่ การเมืองมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจโตร้อยละ 6-8 ต่อปี มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่า มีประชากรวัยทำงานมาก อีกทั้งมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหภาพยุโรป (อียู) ขณะที่ไทยในช่วงรัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศ อียูไม่ลงนามเอฟทีเอกับไทย แต่นับจากนี้ไปจะเร่งเดินหน้าให้มีการลงนามเอฟทีเอไทย-อียูเร็วที่สุด ส่วนการส่งเสริมการลงทุนของไทยมีจุดเด่น เพราะได้มีการเขียนระบุสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับไว้เป็นกฎหมายที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีโครงสร้างพื้นฐานประเทศที่ดีกว่า และยังเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ เป็นต้น
ส่วนค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามต่ำกว่าไทยประมาณร้อยละ 50 นั้น เรื่องนี้ได้รับข้อมูลว่ายังมีค่าใช้จ่ายสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการที่ต้องจ่ายให้กับแรงงานอีกด้วย ดังนั้น เมื่อคำนวณรายจ่ายรวมแล้ว ค่าแรงในเวียดนามไม่ได้ถูกกว่าค่าแรงไทยมากนัก แต่แรงงานไทยมีทักษะฝีมือแรงงานสูงกว่า ทำงานได้ผลผลิตและประสิทธิภาพที่สอดคล้องกับค่าจ้าง ด้านตัวเลขเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเวียดนามช่วงที่ผ่านมาของปีนี้มีการแถลงออกมาสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์นั้น ยังไม่ทราบวิธีการประเมินแตกต่างกันกับประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการศึกษาและเปรียบเทียบมาตรการส่งเสริมการลงทุนของเวียดนามกับไทยเกิดขึ้นเนื่องจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบเริ่มวางแผนย้านฐานการผลิตออกจากจีน และเวียดนามเป็นประเทศหนึ่งที่นักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุนมาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงขอให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ศึกษาและเปรียบเทียบมาตรการส่งเสริมการลงทุนของเวียดนามกับไทย นายสุริยะ จึงได้นำคณะผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางมาศึกษาดูงานที่เวียดนาม พร้อมหารือกับภาคเอกชนไทยที่สถานกงสุลใหญ่ไทย ที่นครโฮจิมินห์ .-สำนักข่าวไทย