กทม. 30 ส.ค.- ยุคนี้ UFO ยังมีร่างทรงได้ นับประสาอะไรที่ “โดราเอมอน” จะเป็นเครื่องรางไม่ได้ มีการเช่าบูชา “เครื่องรางโดราเอมอน” ฮิตติดลมบน
กระแสโลกโซเชียล ระบุว่าเครื่องราง “แมวกวักทรัพย์รับลูกเดียว” ที่เห็นอยู่นี้ ผ่านพิธีปลุกเสกมาแล้ว วางให้เข่าบูชาตามท้องตลาดพระเครื่องมาได้ 2 – 3 เดือน สนนราคาเช่าบูชามาแรงมากอยู่ที่ 1,000 – 2,000 บาท จากเดิมที่ออกมาครั้งแรกอยู่ที่ 200 บาท รูปลักษณ์คล้ายกับหุ่นยนต์จากโลกอนาคต “โดราเอมอน” ด้านหน้ามีกระเป๋าวิเศษ ส่วนมือเป็นกลมๆ ใบหน้ายิ้มกว้าง มีกระดิ่งตรงคอ ด้านหลังเป็นยันต์ใบพัด เชื่อว่าจะช่วยพัดเงินพัดทอง ส่วนข้างใต้เป็นยันต์ และตอกหมายเลข บนหัวสวมชฎา
ถามว่าใครปลุกเสกให้? แหล่งข่าวบอกว่า มีฆราวาสชื่อดังคนหนึ่ง เป็นผู้มีวิชาและรู้จักกันดีในแวดวงพระเครื่องเป็นผู้ปลุกเสก ในวงการพระเครื่องเล่ากันว่า นักเล่นพระคนหนึ่งย่านฝั่งธนเช่าเครื่องรางโดราเอมอนมา 10 องค์ สัปดาห์เดียวปล่อยเกลี้ยง เครื่องรางโดราเอมอน รุ่นนี้ ผลิตทั้งสิ้น 2,209 องค์ แบ่งเป็น เนื้อเงินอุดผงตระกรุดทองคำ 9 องค์ เนื้ออัลปาก้าอุดกริ่ง 200 องค์ เนื้อชวนอุดกริ่ง 1,000 องค์ เนื้อชวนอุดผง 1,000 องค์ ทุกองค์ ตอกโค้ตพร้อมหมายเลขและเลขหมายกำกับบริเวณฐานโดราเอม่อนทุกองค์
ถามถึง “พุทธคุณ” แหล่งข่าวระบุ ถ้าใครมีไว้ติดตัว เชื่อว่าจะช่วยเรื่องโชคลาภ ค้าขาย เงินทอง คนที่เช่าบูชาส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่ชอบของแปลก ส่วนรูปลักษณ์ “โดราเอมอน” เป็นเพียงกุศโลบายไม่ให้ดูน่ากลัวเท่านั้น
คาถาที่แนบมาในกล่อง บอกว่า ให้นำเครื่องรางนี้กำไว้ในมือ แล้วท่องคาถาเฉพาะ คือ วิลาโวติ สิทธิลาภา มานิมามา เอาโชคลาภ เงิน ทอง มาให้ข้า ก่อนหน้านี้ ประมาณปี 2558 มีการทำเครื่องรางแบบนี้ออกมาบ้างแล้ว แต่เป็นรูปโดราเอมอน ใส่กรอบสวยงาม ปลุกเสกแล้วเช่นกัน
ตัวการ์ตูนโดราเอมอนไม่มีลิขสิทธิ์ หรืออย่างไร ทำไมเอาไปทำการพาณิชย์หลายอย่างได้ตามใจ มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5756/2551 วินิจฉัยเรื่องลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนญี่ปุ่น “โดราเอมอน” หรือ “โดเรมอน” สรุปคำวินิจฉัยได้ว่า
– โดราเอมอนโฆษณาครั้งแรกวันที่ 1 ธ.ค. 2512 ที่ญี่ปุ่น
– พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ คุ้มครองงานศิลปะประยุกต์ให้มีอายุ 25 ปี นับแต่โฆษณาครั้งแรก
– โดราเอม่อน จึงมีอายุการคุ้มครองถึง วันที่ 1 ธ.ค. 2537 เท่านั้น
– เหตุแห่งคดี มีการนำภาพโดราเอมอน มาดัดแปลงเป็นงานศิลปะใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของเครื่องใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม จึงไม่มีลิขสิทธิ์อีกต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษา “ยกฟ้อง”.-สำนักข่าวไทย