ศาลฏีกา 30 ส.ค.- “ทักษิณ” ส่งทนายสู้คดีร่วมทุจริตการปล่อยกู้สินเชื่อ ธ.กรุงไทยกับกลุ่มกฤษฎามหานคร ศาลยกฟ้อง เหตุพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่า ซุปเปอร์บอส คือ ทักษิณ
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง เมื่อเวลา 14.50 น. นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีนายทักษิณ ชินวัตร ร่วมทุจริตการปล่อยกู้สินเชื่อ ธ.กรุงไทยฯ กับกลุ่มกฤษฎามหานคร คดีหมายเลขดำ อม.3/2555 อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อายุ 70 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 และนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และบริษัทในเครือของบริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 27 ราย
(กลุ่มนายวิโรจน์ และผู้บริหาร ธ.กรุงไทยฯ กับ บมจ.กฤษดามหานครฯ ศาลพิพากษาแล้วเมื่อวันที่ 26 ส.ค.58 จำคุกทั้งสิ้น 24 คน ยกฟ้อง 2 คน) เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ.2535
กรณีเมื่อวันที่ 8 ก.ย.46 – 30 เม.ย.47 ได้อนุมัติสินเชื่อให้นิติบุคคลซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ นำไปซื้อที่ดินโดยไม่มีการวิเคราะห์ถึงฐานะทางการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการให้สินเชื่อ แหล่งเงินทุนที่จะชำระหนี้ และไม่มีการควบคุมติดตามดูแลสินเชื่อ หลังการอนุมัติโดยใกล้ชิด รวมทั้งไม่เรียกหลักประกันให้คุ้มหนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของ ธ.กรุงไทยฯ ผู้เสียหาย โดยพวกจำเลยนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตเป็นเหตุให้ ธ.กรุงไทยฯ ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 10,054,467,480 บาท
อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.55 แต่ระหว่างที่จะเริ่มจะพิจารณาคดีปรากฏว่านายทักษิณได้หลบหนีคดี ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของนายทักษิณออกจากสารบบไว้ชั่วคราว (พักการพิจารณา) จนกว่าจะได้ตัวกลับมาดำเนินคดี แล้วต่อมาในปี 2560 ได้มีการออกกฎหมายใหม่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 (วิ อม.) ซึ่งให้อำนาจศาลที่จะพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลยได้ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด จึงยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เมื่ิอเดือน พ.ย.60 ขอให้นำคดีนี้ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วเคราวเฉพาะในส่วนของ นายทักษิณ จำเลยที่ 1 ขึ้นมาพิจารณาใหม่โดยไม่มีตัวจำเลย ตาม วิ อม. มาตรา 28
คดีนี้นายทักษิณ จำเลยได้มอบอำนาจให้ทนายความร่วมโต้แย้งคดีเป็นสำนวนแรกและสำนวนเดียวที่ได้ถูกยื่นฟ้องคดีในศาลฎีกาฯ ซึ่งวันนี้ทนายความก็ได้มาฟังคำพิพากษาด้วย
องค์คณะฯพิเคราะห์แล้ว องค์คณะเสียงข้างมากเห็นว่า ข้อโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายที่นายทักษิณต่อสู้ว่า คตส.ไม่มีอำนาจไต่สวนนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในคดีอื่น ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ 5/2551 ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันการพิจารณาของศาลฎีกาฯ ด้วย
ส่วนนายทักษิณ จำเลยที่ 1 กระทำผิดหรือไม่ องค์คณะเห็นว่าพยานของอัยการโจทก์ ซึ่งเป็นอดีตกรรมการของธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย เบิกความเกี่ยวกับซุปเปอร์บอสหรือบิ๊กบอส เห็นชอบและสั่งการให้อนุมัติสินเชื่อให้กลับกลุ่มกฤษฎามหานคร จำเลยที่ 19 ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพราะพยานได้รับฟังมาจากจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ พยานปากนี้จึงยังไม่มีน้ำหนักว่านายทักษิณ จำเลยที่ 1 สั่งการให้จำเลยที่ 2-4 ซึ่งเป็นผู้บริหารธนาคารกรุงไทยที่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อให้กลุ่มกฤษฎามหานคร จำเลยที่ 19 จึงพิพากษายกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายทักษิณ ที่ผ่านมาศาลฎีกาฯ ได้พิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลยตามกฎหมายและได้มีคำพิพากษาในคดีสำนวนอื่นก่อนหน้านี้ไปแล้วทั้งสิ้น 3 คดี
ประกอบด้วย 1.คดี ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง กล่าวหาทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาเมื่ิอวันที่ 23 เม.ย.62 ให้จำคุก 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา
2.คดี ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง กล่าวหาร่วมทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ศาลฎีกาฯ พิพากษาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.62 ให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา
3.คดี ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง กล่าวหาขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปี 2546 ได้เสนอให้กระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ ซึ่งศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 ส.ค.61 ให้ยกฟ้องนายทักษิณ
โดยยังมีคดีที่ศาลฎีกาฯ กำลังพิจารณาอีก คือคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องกล่าวหาแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ – ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551.-สำนักข่าวไทย