กรุงเทพฯ 28 ส.ค. – เซ็นทรัลพัฒนายืนยันดำเนินการ “เซ็นทรัล วิลเลจ” อย่างถูกกฎหมาย พร้อมเปิดให้บริการ 31 สิงหาคมนี้ ขณะที่ ทอท. และเซ็นทรัลพัฒนา ลุ้นศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินบ่ายนี้
นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น กล่าวยืนยันว่า บริษัทฯ ดำเนินการโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง มีความโปร่งใสพร้อมให้ตรวจสอบ และขอความเป็นธรรมช่วยกันเดินหน้าประเทศไทยทั้งภาพลักษณ์ที่ดีและเศรษฐกิจของประเทศให้โครงการที่มีร้านค้ากว่า 150 ร้าน และพนักงานมากกว่า 1,000 คน พร้อมเปิด 31 สิงหาคมนี้ตามกำหนดการเดิม
“โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ขอวิงวอนให้ภาครัฐให้ความเป็นธรรม และช่วยคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ โดยโครงการมีมูลค่าร่วมลงทุนของซีพีเอ็น และร้านค้ากว่า 150 ร้านค้า รวมกว่า 5,000 ล้านบาท หลังจากเปิดให้บริการคาดว่าจะมีการจ้างงานพนักงานร้านค้าที่เช่าพื้นที่กว่า 1,000 คน และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในประเทศกว่า 30,000 ล้านบาท” นายปรีชา กล่าว
นายปรีชา กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่บริษัทฯ ขอชี้แจง มี 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1. พื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้าออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของภาครัฐ (ที่ราชพัสดุ ลำรางสาธารณะ) และไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด โดยที่ดินโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ตั้งอยู่บนที่ดินที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท.
ขณะที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เดิมเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงพัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7 (2) พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมาเพื่อสร้างสนามบินที่ ทอท.ดูแล นอกจากนี้ โครงการได้รับอนุญาตเชื่อมทางอย่างถูกต้องจากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มในการอนุมัติการเชื่อมทางแต่เพียงผู้เดียว โดยพื้นที่ทางหลวงหมายเลข 370 หมายรวมถึงเขตทางและไหล่ทาง ซึ่งติดกับที่ดินของเอกชน 2 ข้างถนน และที่ดินของโครงการมีแนวเขตแนบสนิทต่อเนื่องกับเขตทางของ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ดังนั้น ที่ดินของโครงการจึงไม่ใช่ที่ดินตาบอด
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดในส่วนของการโต้แย้งสิทธิ์ในที่ดินหน้าโครงการระหว่างกรมทางหลวง ทอท. และกรมธนารักษ์ ขอชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้ที่ดินนี้อยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และมีป้ายเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างชัดเจน โดยทางหลวงแผ่นดิน 370 ซึ่งเคยเป็นที่ราชพัสดุและมอบให้กรมทางหลวงสร้างและเป็นผู้ดูแล ซึ่งเป็นพื้นที่คนละส่วนกับพื้นที่ดินเวนคืนของสนามบินสุวรรณภูมิที่ ทอท.ดูแล อีกทั้งทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ถือเป็นทางหลวงสาธารณะที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ไม่ใช่ขององค์กรเอกชนใดที่จะมากล่าวอ้างเป็นเจ้าของได้
ปี 2511-2513 ภาครัฐได้จัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างถนน ปี 2544 ครม.มีคำสั่งให้กรมทางหลวงสร้างทางเข้าออกด้านใต้ของสนามบิน คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และปี 2550 กรมขนส่งทางอากาศทำบันทึกมอบพื้นที่ให้กรมทางหลวงดูแลรักษาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งประกาศใช้เป็นถนนสาธารณะและให้กรมทางหลวงรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวกรมทางหลวง จึงเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองและมีสิทธิ์อนุญาตในการให้ใช้ประโยชน์จากทางหลวงแผ่นดิน 370 ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 โดยมีป้ายแสดงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดทาง
ทั้งนี้ ทำให้ชี้ได้ว่าสิทธิ์นี้เป็นของกรมทางหลวง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ประโยชน์เข้าออกได้ต่อเนื่องมาโดยตลอดแล้ว 88 ราย โดยแบ่งเป็น 1.ผู้ที่ยื่นขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวงจำนวน 37 ราย 2.ทอท.เองก็ได้ขออนุญาตจากกรมทางหลวงในการใช้ประโยชน์ เช่น จากหลักฐานล่าสุดเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท.เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก ทั้งนี้ ไม่มีผู้ใช้ประโยชน์รายใด เคยยื่นขออนุญาตเชื่อมทางจาก ทอท.เลย
สำหรับพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากการจัดหาที่ดินตาม พ.ร.บ.เวนคืน เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิปี 2516 ได้มีประกาศ พ.ร.บ. เวนคืนที่ดิน 19,251 ไร่ เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เพื่อชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ ทอท.กล่าวอ้างสิทธิ์การดูแลและครอบครองที่ดินไหล่ทางหน้าโครงการ ไม่น่าจะเป็นกล่าวอ้างที่ถูกต้องนัก เพราะเป็นทางหลวงที่เปิดใช้เป็นเส้นทางสัญจรมาตั้งแต่ปี 2548 และกรมทางหลวงได้รับมอบจาก ทย. แล้วเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2550 โดยขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน อีกทั้งล่าสุดเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท.เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก
ประเด็นที่ 2 บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด โดยโครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมืองและไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 3 คือ บริษัทฯ ได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอย่างถูกต้อง โครงการมีความปลอดภัยต่อการบินไม่ได้ละเมิดกฏใด ๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบิน หรือรบกวนการบินแต่อย่างใด โดยการออกแบบมีความสูงที่ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับการติดธงแดงตามที่มีการกล่าวอ้าง และเราจะปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดต่อไป
นายปรีชา กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมานับแต่เริ่มพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ บริษัทฯ ทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ และยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงานถูกต้องทุกขั้นตอน มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้มาโดยตลอด และขอยืนยันว่าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง ตามไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้นดังนี้ 1.ปี 2558 บริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบที่ดินว่า ที่ดินดังกล่าวนั้นสามารถพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจได้ตาม พ.ร.บ. ผังเมือง และติดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ไม่ใช่ที่ดินตาบอดแต่อย่างใด
2.วันที่ 22 ธันวาคม 2559 บริษัทฯ ได้รับหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดินตาม พ.ร.บ.ผังเมือง ว่า พื้นที่สีเขียวบริเวณ ก1-10 ของผังเมืองสมุทรปราการ ยังมีพื้นที่เพียงพอให้บริษัทฯ สร้างโครงการนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 3.วันที่ 30 มกราคม 2560 และ 25 กรกฎาคม 2562 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างและแบบปรับปรุงภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) 4.วันที่ 24 เมษายน 2561 ได้ใบอนุญาตการก่อสร้างอาคาร (อ1) จาก อบต. บางโฉลง 5.วันที่ 24 เม.ย. 2561 บริษัทฯ ได้แถลงข่าวเปิดตัวโครงการต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก 6.วันที่ 10 เม.ย. 2562 กรมทางหลวงได้อนุญาตให้การประปา ใช้พื้นที่ไหล่ทางในการดำเนินการวางท่อเข้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ
7.วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 กรมทางหลวงได้อนุญาตให้ทำทางเชื่อมเข้าออก ขยายผิวจราจร และปรับปรุงทางเท้า ซึ่งรวมไปถึงไหล่ทางด้วย เช่นเดียวกับที่เคยได้อนุมัติเชื่อมทางให้กับผู้ร้องขอรายอื่นบนถนนสายนี้ทั้งสิ้น 37 ราย รวมถึง ทอท. ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยขออนุญาตจากกรมทางหลวงมาโดยตลอด และล่าสุดเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก 8.วันที่ 14 สิงหาคม 2562 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตเปิดใช้อาคาร (อ6) จาก อบต. บางโฉลง 9.วันที่ 22 สิงหาคม 2562 ทอท.มาปิดกั้นทางเข้าออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ 10.วันที่ 31 สิงหาคม 2562 มีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ผู้บริหารเซ็นทรัลพัฒนาระบุว่าเซ็นทรัล วิลเลจ เป็น ลักชูรี่ เอาท์เล็ตแห่งนี้จะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก บริษัทฯ สามารถดึงนักลงทุน Global Brands ใหญ่ ๆ ระดับโลก ซึ่งทุกคนพร้อมและเชื่อมั่นมาลงทุนในประเทศไทย โดยใช้เวลาเตรียมการมากว่า 5 ปี และ Luxury Outlet แห่งนี้ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่มีความครบถ้วน และทำให้คนไทยมาช้อปในประเทศ ทำให้ภาษียังหมุนเวียนอยู่ในประเทศ โดยเป็นการเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงสินค้าแบรนด์เนมได้ง่ายขึ้นในราคาย่อมเยาว์
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงประเด็นที่ระบุว่า กรณีที่ ทอท.ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อยุติการดำเนินโครงการเซ็นทรัลวิลเลจ เป็นการดำเนินการที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องอัตราเติบโตทางธุรกิจของคู่สัญญาสัมปทานที่จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ ทอท.หรือไม่
นายนิตินัย กล่าวว่า คนที่ตั้งคำถามดังกล่าว ควรหาทางออกตามข้อกฎหมายให้ ทอท.ด้วย เนื่องจากการดำเนินการของ ทอท. เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่ ทอท.ในฐานะโอเปอเรเตอร์ ผู้บริหารจัดการท่าอากาศยาน ซึ่งครอบคลุมเรื่องความปลอดภัยต้องทำเรื่องดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายและความถูกต้อง และคนที่ตั้งคำถามระบุว่า ทอท.ปกป้องผลประโยชน์ของใคร ก็ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน
ทั้งนี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ระบุว่าที่ผ่านมาปัญหาการเข้าก่อสร้างโครงการเซ็นทรัลวิลเลจ เกิดปัญหาขึ้นในอดีต เนื่องจากพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ราชพัสดุและต่อมากรมทางหลวงได้ขอใช้ประโยชน์เพื่อตัดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 หลังจากนั้นมีเอกชนมาขอเชื่อมต่อทางเข้าออก ซึ่งกรมทางหลวงอนุมัติให้ดำเนินการได้ ทั้งที่ข้อกฎหมายเมื่อมีการตัดทางแล้วเสร็จควรดำเนินการส่งพื้นที่คืนกรมธนารักษ์และให้เอกชนที่จะเข้าใช้พื้นที่กรมธนารักษ์ ขอพื้นที่เข้าออกโดยตรงจากธนารักษ์ ไม่ใช่เชื่อมต่อเอง
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่อง ทอท.สอบถามไปยังสำนักงาการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแบบแปลนการก่อสร้างโครงการเซ็นทรัลวิลเลจ ทอท.มีข้อสงสัยหลาประเด็น แต่ กพท.ได้ตอบเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยความสูงอาคารมาเท่านั้น โดย กพท.ยังไม่ได้ให้รายละเอียด ซึ่ง ทอท.จะขอส่งหนังสือให้ กพท.ให้รายละเอียดอีกครั้ง รวมถึงประเด็นเรื่องการบุกรุกลำน้ำสาธารณะในพื้นที่ก่อสร้าง เรื่องนี้ ทอท.ได้ประสานกับ อบต.บางโฉลง เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่ามีการบุกรุก ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ส่วน ทอท. ซึ่งเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานสุวรรรภูมิ และเห็นว่าโครงการมีการกระทำที่ผิดกฎหมายก็จะดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีด้วยเช่นกัน
ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลยื่นคำร้องต่อศาลปกครองวันนี้ (28 ส.ค.) เพื่อให้คุ้มครองให้เปิดบริการได้วันที่ 31 สิงหาคมนี้ ซึ่งเซ็นทรัลคาดหวังว่าศาลจะให้คุ้มครองฉุกเฉิน หากศาลไม่คุ้มครองกลุ่มเซ็นทรัลก็มีแผนที่จะดำเนินการ แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด.-สำนักข่าวไทย