กรุงเทพฯ 26 ส.ค. – เวที “SD Symposium 10 Years: Collaboration for Action” ระดมสมองลุยแก้วิกฤติทรัพยากรด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เสนอนายกรัฐมนตรี 4 แนวทาง จัดการขยะ-ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
นายสุเมธ ตันติเวชกุล รองประธาน บริษัท เอสซีจี ในฐานะผู้จัดงาน เสวนา “SD Symposium 10 Years: Collaboration for Action” ได้มีการระดมความเห็นและเสนอนายกมนตรี เพื่อให้ไทยจัดการปัญหาขยะที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 1.ยกเครื่องโครงสร้่างพื้นฐานรองรับการจัดการขยะอย่างครบวงจร คัดแยกขยะให้เป็นมาตรฐาน รัฐบาลต้องมีถังแยกขยะให้เพียงพอ นำขยะแปรรูปเป็นพลังงานและรีไซเคิลได้ โดยควรให้มีการจัดการที่ดี เช่น เดียวกับญี่ปุ่น ไต้หวันและกลุ่มแสกนดินีเวีย
2.สนับสนุนให้ภาคเอกชน ผลิตผลิตภัณฑ์ด้านรีไซเคิล จัดการซากสินค้าที่หมดอายุ โดยรัฐต้องกำหนดมาตรฐานสินค้าที่เกี่ยวข้องเพื่ิอให้เกิดการผลิตที่เหมาะสม 3.รณรงค์ด้านสังคม ให้ประชาชนลดการสร้างขยะ ให้เกิดการใช้หมุนเวียน ส่งเสริมการรีไซเคิล ให้เกิด Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยต้องรณรงค์ตั้งแต่ระดับครอบครัวและกำหนดเป็นบทเรียนแก่นักเรียนทุกระดับ 4.เสนอรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายจัดการขยะอย่างจริงจัง กำหนดวันจัดเก็บขยะ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎหมายห้ามทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง แต่ปรากฏว่าขยะยังมีจำนวนมาก และลงสู่ทะเลเป็นมลพิษ แสดงว่ารัฐบาลยังไม่จริงจังในเรื่องนี้
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับข้อเสนอดังกล่าวและระบุว่าเป็นแนวทางตามแผนงาน BCG ที่เป็นยุทธศาสตร์ด้านเศรษกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว โดยข้อกำหนดต่าง ๆ มีทั้งด้านรณรงค์ กฏหมาย และข้อกำหนดในการส่งเสริมการลงทุน โดยที่ผ่านมารัฐบาลออกข้อกำหนดชัดเจนยกเลิกการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในปี 2565 มีการใช้มาตรการภาษีจูงใจ ก็หวังว่สทุกภาคส่วนจะร่วมดำเนินการตามมาตรการนี้ ขณะเดียวกันกรณีพะยูนหลายตัวเสียชีวิต ก็สั่งให้ดูแลถึงสาเหตุทั้งหมดและดูถึงระบบทางการแพทย์ดูแลสัตว์น้ำด้วยว่าควรปรับปรุงอย่างไร.-สำนักข่าวไทย