กรุงเทพฯ 22 ส.ค. – ปตท.ลงนามสัญญาร่วมวิจัยกับ GPSC พัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ เทคโนโลยี 24M ในสหรัฐ ลงทุน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เป็นศูนย์ต้นแบบในการใช้พลังงานทดแทนควบคู่การใช้ระบบกักเก็บพลังงาน
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า วันนี้ (22 ส.ค.) GPSC ได้ร่วมลงนามกับนายวรวัฒน์ พิทยศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล บมจ.ปตท.ในสัญญาร่วมวิจัยโครงการ “วิจัยและพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิด (Semi-Solid)” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะร่วมศึกษาและพิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี ทั้งด้านเทคนิคและเชิงเศรษฐศาสตร์ และการจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ ซึ่งเป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technology ที่ GPSC เข้าไปร่วมลงทุน ซึ่งเงินลงทุนโรงงานต้นแบบจะเป็นของกลุ่ม ปตท.รวม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มลงทุนไตรมาส 3/2562 แล้วเสร็จระยะแรกไตรมาส 3/2563 กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์/ชั่วโมง หลังจากนั้นจะดำเนินการต่อเนื่องระยะที่ 2 แล้วเสร็จปลายปี 2564 อย่างไรก็ตาม โรงงานต้นแบบจะมีผู้ร่วมทุนรายอื่นเข้ามาลงทุนด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการเจราทั้งผู้ร่วมทุน 24M และผู้ใช้ เช่น ค่ายรถยนต์อีวี ผู้ใช้เพื่อการกักเก็บไฟฟ้าตามบ้านและอาคารต่าง ๆ
ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดขั้นตอนการผลิตลงได้กว่าร้อยละ 50 ใช้วัตถุดิบน้อยลง มีการออกแบบเซลล์แบตเตอรี่ให้มีความปลอดภัยสูง ไม่ใช้กาวในการผลิตทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังป้องกันสิ่งปนเปื้อน ทำให้ไม่เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้แบตเตอรี่ ซึ่งเบื้องต้นเทคโนโลยีนี้เหมาะสมสำหรับกักเก็บพลังงานโซลาร์รูฟท็อปที่ใช้ในบ้านเรือน อย่างไรก็ตาม โรงงานต้นแบบจะศึกษาถึงการผลิตแบตฯ ที่ใช้ในรถยนต์อีวีควบคู่ไปด้วย และเมื่อประสบผลสำเร็จแล้ว การผลิตโรงงานเชิงพาณิชย์ก็จะมีการลงทุนในเมืองไทยในอนาคต
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางด้านพลังงานของกลุ่ม ปตท.ที่มุ่งใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยมีแบตเตอรี่เป็นรากฐานและเป็นตัวผลักดันที่สำคัญ ทั้งนี้ ในระยะเวลาภายใน 15 วันหลังการลงนามทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ (Steering Committee) โดยมีประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท.เป็นประธาน ซึ่งเมื่อผลิตแบตเตอรี่จากโรงงานต้นแบบจะมีตัวชี้วัด และเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พร้อมมีการส่งมอบแบตเตอรี่ที่ผลิตได้นำไปสู่การใช้จริง โดยผ่านการทดสอบจากกลุ่มลูกค้า เพื่อนำข้อเสนอแนะจากลูกค้ากลับมาพัฒนาแบตเตอรี่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น
นายชวลิต กล่าวด้วยว่า ในส่วนของโซลูชั่นการให้บริการระบบกักเก็บพลังงาน ทาง GPSC ไม่ได้รอโรงงานต้นแบบ 24M ขณะนี้ได้ใช้ระบบแบตฯ ของแบรนด์อื่นมาทดสอบการให้บริการสำหรับที่อยู่อาศัย โดยเบื้องต้นการติดตั้ง 10 กิโลวัตต์/ชม. กักเก็บไฟฟ้าได้ 4 ชม. สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยประมาณ 4 คน ต้นทุนเบื้องต้นจะอยู่ที่ 250,000 บาท ขณะเดียวกันจะมีการนำไปใช้ในพื้นที่วิจัยต่าง ๆ เช่น ในเขตนวัตกรรม พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EECi ที่วังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง จะมีการนำติดตั้งทั้งโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ลอยน้ำ มีการใช้บล็อกเชนมาใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าแต่ละอาคารและมีการใช้เทคโนโลยี AI ในการติดตามสภาวะอากาศที่เหมาะสมในการผลิตและเลือกใช้แหล่งผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยต้นทุนที่เหมาะสมสำหรับแบตเตอรี่ที่เหมาะสมในการใช้เชิงพาณิชย์อยู่ที่ 100 ดอลลาร์/กิโลวัตต์/ชม. แต่ปัจจุบันราคาตลาดทั่วไปอยู่ที่ 160 ดอลลาร์/กิโลวัตต์/ชม. และภาพรวมต้นทุนลดลงร้อยละ 10 ต่อปี.-สำนักข่าวไทย