17 ส.ค. – การตายของพะยูนน้อยมาเรียม จากเศษพลาสติก ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งเอาจริงเร่งจัดการขยะในท้องทะเลไทย ติดตามจากรายงาน
นี่เป็นเศษพลาสติกที่พบอยู่ในลำไส้ของพะยูนน้อยมาเรียม หลังสัตวแพทย์ผ่าพิสูจน์ เศษพลาสติกแต่ละชิ้นมีขนาด 8-10 เซนติเมตร ที่เสื่อมสภาพ ลักษณะเปื่อยยุ่ย สัตวแพทย์คาดว่า เป็นไปได้ที่เศษพลาสติกเหล่านี้อาจติดอยู่ตามหญ้าทะเล เมื่อมาเรียมกินหญ้าทะเล อาจกินเศษพลาสติกปะปนเข้าไป กระทั่งลำไส้อุดตัน และอักเสบบางส่วน เกิดแก๊สสะสมเต็มทางเดินอาหาร ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตในที่สุด
ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติออกมาระบุว่า ถึงเวลาต้องเอาจริงกับการเร่งรัดดำเนินการตามแผนลดปริมาณขยะทางทะเล
ข้อมูลจากอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ระบุว่าปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ ในปี 61 มีมากกว่า 98 ตัน หรือ 98,000 กิโลกรัม จากนักท่องเที่ยวเกือบ 1.6 ล้านคน ขณะที่ในปี 62 ผ่านไป 10 เดือน นักท่องเที่ยวน้อยกว่าปีก่อนเกือบครึ่ง แต่ปริมาณขยะอยู่ที่ 95 ตัน 95,000 กิโลกรัม น้อยกว่าเพียง 3,000 กิโลกรัม ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด น่าจับตาว่าอีก 2 เดือนที่เหลือ ตัวจะพุ่งขึ้นไปเท่าใด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สตัฟฟ์พะยูน “มาเรียม” ขอลดใช้พลาสติกเริ่ม #มาเรียมแอคชั่น
ไทม์ไลน์แรกเจอพะยูน “มาเรียม” ถอดบทเรียนการตาย ชันสูตรพบเศษพลาสติกในลำไส้
ข่าว ‘มาเรียม’ ตาย ทำคนเศร้า ติดท็อปไฟว์เทรนด์ทวิตเตอร์
เปิดใจทีมพิทักษ์ดุหยงดูแล “มาเรียม” รับผูกพันเหมือนลูกคนหนึ่ง
ไม่เฉพาะทะเลที่นี่ ที่พบปัญหาสัตว์ทะเลหายากเสียชีวิตจากเศษพลาสติกที่ถูกทิ้งโดยฝีมือมนุษย์ ย้อนไป 1 เดือนก่อนหน้านี้ ชายหาดสวนสน จังหวัดระยอง พบเต่ามะเฟืองขนาดใหญ่ อายุประมาณ 10 ปี เกยตื้นตาย แม้สัตวแพทย์ระบุว่าน่าจะตายจากถูกใบพัดเรือ แต่เมื่อผ่าพิสูจน์กลับพบขยะพลาสติกถึง 9 ชิ้นในทางเดินอาหาร เป็นถุงพลาสติกเต็มใบ 2 ถุง ปากถุงขนาดใหญ่ 1 ชิ้น ถุงพลาสติกหุ้มขนมปัง 1 ชิ้น และเศษถุงพลาสติกอีก 5 ชิ้น ที่สำคัญไม่พบอาหารและอุจจาระตลอดทางเดินอาหาร ทำให้เชื่อได้ว่าเต่าน่าจะไม่ได้กินอาหารมาเป็นเวลานาน อาจเป็นผลกระทบที่ได้รับจากขยะในทะเลหรือเป็นเหตุให้เต่ามะเฟืองกินขยะพลาสติก
ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ปีที่ผ่านมา ตัวเลขขยะในทะเลไทยอยู่ที่ 28 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติก 2 ล้านตัน นำมารีไซเคิลได้ 500,000 ตัน อีก 1.5 ล้านตัน ต้องทิ้งไว้ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งกว่าจะย่อยสลายใช้เวลา 400-500 ปี สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างมหาศาล .- สำนักข่าวไทย