กรุงเทพฯ4 ธ.ค.คนไทยซาบซึ้งประทับใจต่อการทรงงานของในหลวง ร. ๙ ด้านการพัฒนา “ป่า” ฟื้นฟูป่าชายเลน ในโครงการศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนโดยพระราชดำริการปรับปรุงพัฒนา “ดิน” ด้วยการใช้หญ้าแฝก เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่คนไทยประทับใจ และการทรงงานด้านการพัฒนา “น้ำ” ด้วยการหาแนวทางป้องกันอุทกภัย ในโครงการแก้มลิง เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่คนไทยประทับใจอย่างมิเสื่อมคลาย โดยจะขอสานต่องานอนุรักษ์ ป่า ดิน น้ำ ด้วยการไม่ทำลายแหล่งน้ำ ใช้น้ำอย่างคุ้มค่า และไม่ทำลายป่า
กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ธ สถิตในดวงใจ ไทยนิรันดร์ : รักษ์ป่า…ดิน…น้ำ สานต่องานพ่อสร้าง” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,158 คน พบว่า การทรงงานของในหลวงรัชกาลที่9 ต่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับ “ป่า”ที่สร้างความซาบซึ้งประทับใจกับคนไทยอย่างมิเสื่อมคลาย คือ ทรงตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี โดยเน้นเรื่องสภาพแวดล้อม การฟื้นฟูป่าชายเลนและโครงการอนุรักษ์หญ้าทะเล (ร้อยละ 46.4) รองลงมาคือทรงตั้งศูนย์ศึกษาตัวอย่างสาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมและงานศิลปาชีพ เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติม อาทิ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน จังหวัดสกลนคร (ร้อยละ 39.0) และทรงอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ พัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน (ร้อยละ 35.6
ส่วนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับ “ดิน” ที่สร้างความซาบซึ้งประทับใจอย่างมิเสื่อมคลาย คือ ทรงมีพระราชดำริใช้ “หญ้าแฝก” ในการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม (ร้อยละ 71.0) รองลงมาคือ โครงการ “แกล้งดิน” ใช้วิธีการทางธรรมชาติในการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว (ร้อยละ 59.0) และ แนวพระราชดำริ “การห่มดิน”เพื่อการฟื้นฟูดินที่เสื่อมสภาพ ให้ดินมีความชุ่มชื้น จุลินทรีย์ทำงานได้ดี ดินมีประสิทธิภาพ (ร้อยละ 33.1)
สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับ “น้ำ” ที่สร้างความซาบซึ้งประทับใจให้กับคนไทยอย่างมิเสื่อมคลาย คือ ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของอุทกภัยจึงทรงมีแนวพระราชดำริ “โครงการแก้มลิง” เพื่อกักเก็บน้ำ (ร้อยละ 66.9) รองลงมาคือ ทรงตระหนักถึงภาวะแห้งแล้งจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาตินำมาซึ่ง “โครงการฝนหลวง” (ร้อยละ 66.5) และทรงมีแนวพระราชดำริให้สร้าง เขื่อน เพื่อกักน้ำให้พอเพียงสำหรับการบริโภค การเกษตร และ เพาะพันธุ์ปลา เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล (ร้อยละ 48.3)
ทั้ งนี้ความตั้งใจของคนไทยในการสืบสานงานอนุรักษ์ ป่า ดิน น้ำ ตามพ่อสร้าง คือ จะไม่ทำลายแหล่งน้ำ โดยไม่ทิ้งขยะมูลฝอย (ร้อยละ 57.2) รองลงมาคือ จะบริโภคน้ำอย่างประหยัดคุ้มค่า (ร้อยละ 53.7) และจะไม่ตัดไม้ทำลายป่า/นำของป่าออกมาใช้ (ร้อยละ 52.0).-สำนักข่าวไทย