กรุงเทพฯ 8 ส.ค.-ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ไม่คาดคิดมาก่อน ทำให้ไม่มีโอกาสเตรียมตัวหรือป้องกันทั้งผู้ป่วยเองและคนใกล้ชิด เป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยได้ ทุกเพศ ทุกวัย
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติมีข้อมูลระบุไว้ว่าในแต่ละปีประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 50,000 ราย หรือใน 1ชั่วโมงจะมีคนไทยเสียชีวิต จากโรคหัวใจมากถึง 6 คน
นอกจากนี้สถิติการรับแจ้งเหตุทาง1669 ศูนย์เอราวัณ กทม. ประจำปี 2562 ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. มีคนแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ทั้งหมด 47,564 ราย เกี่ยวกับหัวใจหยุดเต้น เป็นจำนวน 1,197 ราย เมื่อรถกู้ชีพไปถึง เข้าปฐมพยาบาล พบว่ามีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ จากการ CPR ที่ไม่ถูกวิธี ช่วยไม่ทันถึง 656 ราย คิดเป็นร้อยละ 54 .80 หรือเมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงแล้ว ไม่มีการรักษา ญาติไม่ได้ช่วยปฐมพยาบาลไว้ก่อนหน้านี้เพราะทำ CPR ไม่เป็น (การไม่มีการรักษาหมายความว่าไปถึงผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนที่ศูนย์เอราวัณจะไปถึง) ร้อยละ 3.01 หรือ 36 คน
นอกจากนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มโรคไม่ติดต่อ NCDs เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย โดยมีคนไทยป่วยเป็น โรค NCDs ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตปีละกว่า 300,000 คน และคาดว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี
ทำอย่างไรเมื่อเจอภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ? ภาวะนี้จะเกิดขึ้นกับใครที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นจึงควรทำดังนี้ เมื่อประสบเหตุพบคนหมดสติที่สงสัยว่าจะเสียชีวิต ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ให้เรียกหาคนช่วย จากนั้นปฐมพยาบาลผู้ป่วย หาชีพจรให้เจอ หรือ จากนั้นทำการปฐมพยาบาลหรือปั๊มหัวใจ หากในที่เกิดเหตุไม่มีผู้ใดทำเป็น ให้โทร 1669 เพื่อขอความรู้การช่วยผู้ป่วยเบื้องต้นแล้วทำตามคำแนะนำระหว่างรอทีมแพทย์ฉุกเฉินไปช่วยเหลือ.-สำนักข่าวไทย