ศูนย์ราชการ 8 ส.ค.- รองเลขาฯ กกต. แจงงบฯพรรคตามกฎหมายใหม่ไม่มีเงินทดรองจ่าย ที่พรรคการเมืองจะสำรองไปก่อนแล้วมาอ้างเป็นรายได้อื่นๆ รอ กกต.ฟันธง เผยแนวทางตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง เร่งจัดตั้งสาขาและตัวแทนประจำจังหวัด เพราะหากมีเลือกตั้งต้องทำไพรมารีโหวตแบบเต็ม เตรียมจัดคนช่วยให้คำปรึกษาพรรคทั่วประเทศ
ห้องประชุมออดิทรอเรียม เซนทรา ศูนย์ราชการ นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานอบรมโครงการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของพรรคการเมืองรุ่นที่ 2 ให้กับตัวแทนพรรคการเมืองและพนักงาน กกต.จังหวัดว่า พรรคการเมืองเป็นสถาบันหลักทางการเมืองของประเทศ กฎหมายกำหนดที่มาการใช้จ่ายเงินไว้ค่อนข้างทรัพย์ซ้อนกว่านิติบุคคลอื่น การที่พรรคการเมืองจะเข้มแข็ง การดำเนินการกิจการจะต้องปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย การเงินของพรรคจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ในหลักการของกฎหมายไม่ให้พรรคนำกำไรมาแบ่งปันกัน และกำหนดที่มารายได้ของพรรคไว้อย่างชัดเจน 7 ข้อ
รองเลขาฯ กกต. กล่าวว่า ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายของพรรคการเมืองในอดีต ที่จะมีการเขียนให้มีรายได้อื่น ๆ ที่เป็นปัญหาในขณะนี้ และ กกต.ได้รับคำร้อง ซึ่งก็ต้องรอดูว่าจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร โดยมีการร้องว่าเงินทดรองจ่ายเข้าข่ายเป็นรายได้ของพรรคหรือไม่ กฎหมายในอดีตจะมีส่วนของรายได้อื่น ๆ ซึ่งปัญหาในขณะนั้น บางครั้งขาดสภาพคล่อง พรรคโอนเงินค่าน้ำ ค่าไฟไม่ทัน หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค ก็จะควักเงินส่วนตัวสำรองจ่ายไปก่อน ซึ่งพรรคก็จะลงเป็นรายการเงินทดรองจ่าย ซึ่งเงินประเภทนี้ไม่มีสัญญากู้และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเหมือนเงินกู้ โดยในรายงานงบฯ ประจำปี ที่พรรคแจ้งต่อ กกต.ของปี 58-61 ยังมีเงินนี้อยู่ แต่กฎหมายใหม่ไม่ได้เขียนเรื่องเงินอื่น ๆเอาไว้ จึงต้องรอการพิจารณาของ กกต. และการรายงานงบการเงินของพรรคการเมืองในรอบปีนี้ก่อน
นายแสวง ยังกล่าวอีกว่า การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของพรรค กกต.จะดูองค์ประกอบ คือ 1.รายได้ 2 .ผู้รับ คือพรรคการเมืองการรับเงินบริจาคพรรคได้ตรวจสอบหรือไม่ ว่าผู้ให้เป็นคนมีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และพรรครายงานตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ 3. ผู้ให้ กกต.จะดูว่าเป็นคนที่มีคุณสมบัติสามารถให้เงินบริจาคกับพรรคการเมืองได้ ไม่ใช่บุคคลเป็นบุคคลไม่ถือสัญชาติไทย หรือบริษัทที่ไม่จดทะเบียนในประเทศไทย 4.จำนวนเงินเป็นไปตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ 5. พฤติการณ์ในการให้ ข้าราชการการเมืองอย่างใช้ตำแหน่งหน้าที่ชักจูงเรี่ยราย ให้บุคคลหรือเอกชนมาบริจาคให้พรรคการเมือง การให้กับพรรคการเมืองต้องให้ด้วยความนิยมชมชอบ
6.เงินนั้นต้องชอบด้วยกฎหมาย มีแหล่งที่มาชัดเจน ไม่ใช่เอาเงินที่ฟอกมาแล้วมาบริจาคกับพรรค 7.วิธีการใช้จ่ายของพรรค เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่นการระดมทุน ก่อนดำเนินการต้องแจ้งวัตถุประสงค์ วิธีการ ต่อ กกต.และเมื่อระดมทุนแล้วก็ต้องมีการออกหลักฐานให้กับผู้สนับสนุนและแจ้งต่อ กกต.ตามแบบฟอร์มที่ กกต กำหนด 8. ต้องไม่นำกำไรมาแบ่งปันกัน และ 9.ความผิดและโทษซึ่งมีหลายมาตรา สิ่งเหล่านี้ กกต.จะดูว่าพรรค ดำเนินการการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยพร้อมให้คำปรึกษา เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยดี
นายแสวง ยังกล่าวว่า แต่สิ่งที่ กกต.ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ คือ 1.การไปตรวจสอบสถานะของผู้บริจาค แม้เราจะดูตามคุณสมบัติเบื้องต้นตามกำหมายว่า เป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องในตลาดหลักทรัพย์ แต่ผลประกอบการกับขาดทุนทุกปี แต่ทำไมมีเงินมาบริจาคพรรคการเมือง 2.การจัดขายโต๊ะระดมทุนทำไมราคาถูกหรือแพง เพราะในข้อเท็จจริงกฎหมายใช้คำว่าระดมทุนก็คือเป็นการขายเพื่อให้เงินมาเข้าพรรค จึงอยู่ที่พรรคจะตั้งราคาโต๊ะเท่าไหร่ก็ได้ กกต.จึงไม่ได้ไปดูเรื่องการตั้งราคาโต๊ะ จะเพียงว่าเมื่อเงินที่เข้าสู่พรรคแล้ว นำไปใช้อย่างถูกต้องหรือไม่ เราตรวจทั้งหมด 9 อย่าง มี 2 อย่างที่ กกต.ไม่มีอำนาจ และยืนยันเราตรวจกับทุกพรรคตามรอบ เว้นแต่มีกรณีจำเป็นและมีเรื่องร้องเรียนก็จะแจ้งให้พรรคชี้แจง
นายแสวง ได้กล่าวเตือนว่าแม้จะยังไม่มีการเลือกตั้ง ก็อยากให้พรรคเมืองเร่งเรื่องการจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด รวมถึงการหาสมาชิกพรรค เพราะเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องทำไพรมารี่โหวตเต็มรูปแบบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีความซับซ้อนในการปฎิบัติ จึงควรรีบทำ อย่างไรก็ตามในเรื่องการตั้งสาขาพรรค สำนักงาน กกต.จะส่งคนไปดูในพื้นที่ โดยใช่เงินกองทุนพรรคการเมืองจ้างคนไปอยู่จังหวัดละ 1 คน เพื่อให้คำปรึกษา พร้อมกันนี้จะจัดทำคู่มือพรรคการเมือง และคู่มือการทำไพรมารี่โหวต เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการ .-สำนักข่าวไทย