กรุงเทพฯ 8 ส.ค.- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ในเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่า ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 22 เดือน จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก
นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า จากการปรับตัวลดลงของดัชนีชี้วัดในทุกรายการ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ยังคงปรับลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ระดับ 75.0 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 จากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลถึงปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และเสถียรภาพทางการเมือง ไปจนถึงราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า ขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้น จากตัวชี้วัดในหลายรายการปรับตัวลดลงมาก โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่มีการปรับตัวต่ำสุดถึงในรอบ 17 ปี 10 เดือน สะท้อนว่าประชาชนรับรู้ถึงปัญหาทั้งราคาสินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่ราคายังทรงตัวในระดับต่ำ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ซึ่งเป็นไปในเชิงลบ ทำให้ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย จากดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์ การซื้อบ้านหลังใหม่ การใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยว และความเหมาะสมในการทำธุรกิจ ปรับตัวลดลงทุกรายการ
นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังไม่รวมผลกระทบที่เพิ่มเติมขึ้นมา จากปัญหาภัยแล้ง สงครามการค้าที่สหรัฐเริ่มประกาศจะปรับขึ้นภาษีเพิ่มเติมอีก และเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพมหานคร ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้ลดลงต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 4 ได้ หากสถานการณ์ภัยแล้งยังไม่ดีขึ้น และยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทย จะขยายตัวต่ำกว่าที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ไว้ในกรอบร้อยละ 3.2-3.5 เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย