สระแก้ว 6 ส.ค.- ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลคงคลังของประเทศไทย ครั้งที่ 2 จำนวน 3,133 ทุ่น ที่สระแก้ว และเป็นครั้งใหญ่ที่สุด จากก่อนหน้า เม.ย.กว่า 2,000 ทุ่น ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาออตตาวาที่ไทยร่วมลงนามกับนานาประเทศ เมื่อปี 2540
วันนี้ (6 ส.ค.) ที่เนินตรวจการณ์ 152 บ้านภักดีแผ่นดิน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว พล.อ.ชัยชนะ นาคเกิด เสนาธิการทหาร เป็นประธานการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลคงคลังของประเทศไทย พ.ศ.2562 จำนวน 3,133 ทุ่น โดยได้เชิญคณะทูตของประเทศที่ให้การสนับสนุนการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของประเทศไทย ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย ภาคประชาสังคมด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเป็นสักขีพยาน
ทั้งนี้ การทำลายทุ่นระเบิดเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรืออนุสัญญาออตตาวา ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต โอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือเรียกว่าอนุสัญญาออตตาวา ร่วมกับอีก 140 ประเทศ ณ ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 และได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาออตตาวา เป็นผลให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาออตตาวาอย่างสมบูรณ์แบบ รัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
พล.อ.ชัยชนะ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ได้ดำเนินการทำลายทุ่นระเบิดตามพันธสัญญามาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน การทำลายทุ่นระเบิดครั้งนี้ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคม 2562 เป็นความร่วมมือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีมากถึง 3,133 ทุ่น เป็นการทำลายครั้งใหญ่สุด หลังจากมีการทำลายระเบิดครั้งแรกที่เขาอีด่าง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 จำนวน 2,651 ลูก ที่มีการเก็บกู้ได้ในรอบ 5 เดือน พื้นที่ จ.สระแก้ว โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลหมดไปจากประเทศไทย และจะมีผลทำให้ประเทศไทยมีสถานะเป็นรัฐภาคีฯ ที่ไม่มีทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในการครอบครองอีกต่อไป
พล.อ.ชัยชนะ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์และความจริงใจของประเทศไทยในการร่วมมือปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ และยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงอันตรายจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 10 จังหวัด เนื้อที่กว่า 360 ตารางกิโลเมตร ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติฯ จะใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการขจัดอันตรายดังกล่าวให้หมดไป เพื่อนำพื้นที่ปลอดภัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม.-สำนักข่าวไทย