อุตรดิตถ์ 6 ส.ค.-“กระถางชีวภาพ จากเปลือกทุเรียนลับแล” ประหยัดต้นทุน ประหยัดน้ำ กำจัดขยะจากเปลือกทุเรียน ไม่สร้างมลภาวะ
จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากกว่า 4 หมื่นไร่มากที่สุดของภาคเหนือ ที่ผ่านมาเกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า กลุ้มใจกับปริมาณขยะจากเปลือกทุเรียน แต่ละปีมีจำนวนขยะที่เกิดจากทุเรียนเป็นจำนวนมาก จึงกลายเป็นโจทย์ที่อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ มอบให้นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทำเป็นโครงการวิจัยคุณสมบัติเปลือกทุเรียน จนสามารถนำเผยแพร่สู่ชุมชน สร้างมูลค่า และลดภาวะโลกร้อน ด้วยการนำมาผลิตเป็น “กระถางชีวภาพ จากเปลือกทุเรียนลับแล” ผศ.ดร.สุภาพร พงศ์ธรพฤกษ์ อาจารย์ที่ปรึกษาฯ นำผลงาน “กระถางชีวภาพ จากเปลือกทุเรียนลับแล” สาธิตถึงขั้นตอนที่ผลิต ซึ่งไม่ได้ยุ่งยาก ใช้วัตถุดิบหาได้ในท้องถิ่น และต้นทุนต่ำ ด้วยการนำเปลือกทุเรียนมาหั่น บดละเอียด ตากแดดให้แห้ง จากนั้น ใช้กระถางพลาสติกที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด เป็นแบบพิมพ์ในการขึ้นรูป อัดเปลือกทุเรียนให้แน่น จึงถอดแบบกระถางชีวภาพจากเปลือกทุเรียนลับแล ออกมาตากแดดให้แห้ง จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเพาะกล้าทุเรียน ปลูกดอกไม้ประดับ ซึ่งขนาดของกระถางสามารถขึ้นแบบได้ตามต้องการที่จะใช้งาน
เปลือกทุเรียนยังสามารถอุ้มน้ำได้นาน ดังนั้นเมื่อปลูกพืชผัก หรือต้นกล้าในกระถางจากชีวภาพ หากนำลงปลูกลงดินก็ย่อยสลายได้ จึงได้ประโยชน์ทั้ง ประหยัดต้นทุน ประหยัดน้ำ กำจัดขยะจากเปลือกทุเรียนได้ ไม่สร้างมลภาวะ ที่สำคัญเปลือกทุเรียนจากสิ่งที่ใครๆ มองไร้ค่า ต่อไปหากรวมกลุ่มผลิตกลายเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการต่อยอดโครงการฯ ลงสู่ชุมชนที่เทศบาลหัวดง อ.ลับแล แหล่งปลูกและขายทุเรียนของลับแล และหากชุมชนใดสนใจทางสถาบันยินดีให้คำแนะนำ.-สำนักข่าวไทย