กรุงเทพฯ 2 ส.ค. – รัฐมนตรีคมนาคมเร่งเดินหน้าแผนลงทุน พร้อมตั้งบอร์ดโลจิสติก คุมบก ราง น้ำ อากาศ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทนวงคมนาคม กล่าวภายหลังประชุมติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่านายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้มาสรุปแผนงานความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ในอีอีซีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม
ทั้งนี้ ยอมรับว่าขณะนี้มีความห่วงใย 3 เรื่อง คือ การประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมูลค่า 290,000 ล้านบาท ที่มีกองทัพเรือ (ทร.) เป็นเจ้าของโครงการ อยู่ในกระบวนการรอศาลปกครองตัดสิน หลังกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่มซี.พี.) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ทั้งหมดนี้ได้สอบถามในที่ประชุมว่าจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินงานหรือไม่ ได้รับรายงานว่าไม่มีปัญหาอะไร
2. โครงการประมูลท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ท่าเทียบเรือ F มูลค่า 84,000 ล้านบาท ที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ หลังกลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ตกรอบ เนื่องจากส่งเอกสารไม่ครบ และใช้สิทธิ์อุทธรณ์ต่อคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ของคณะกรรมการอีอีซี เรื่องนี้จะต้องรอมติที่ประชุมคณะกรรมการอีอีซี วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคมนี้ ว่าจะตัดสินอย่างไร เพื่อให้บอร์ดที่เป็นคณะอนุกรรมการฯ อุทธรณ์ได้มีการพิจารณา หากไม่รับคำร้อง เอกชนก็สามารถใช้สิทธิ์ฟ้องศาลปกครองเหมือนกรณีสนามบินอู่ตะเภาได้ คาดว่าจะใช้เวลานิดหน่อย คาดว่าจะไม่เป็นปัญหา
และ 3.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 224,544 ล้านบาท ที่เป็นเรื่องของการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างและพื้นที่เวนคืน ซึ่งนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยืนยันวันนี้ว่าได้วางแผนการส่งมอบพื้นที่เพื่อใช้ก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว ส่วนงบประมาณ คณะกรรมการอีอีซีกำกับดูแลทุกอย่างเรียบร้อย และได้เน้นย้ำไปว่าให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ อย่าให้มีปัญหา ยืนยันว่าการลงนามจะสามารถทำได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้
นอกจากนี้ ยังไม่พูดถึงแนวทางจัดตั้งคณะกรรมการใหญ่ที่จะมาบูรณาการระบบโลจิสติกส์ทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งทางบก ราง น้ำ อากาศ โดยบอร์ดโลจิสติกส์จะให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับคณะกรรมการอีอีซีสนับสนุนงานการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ระหว่างในพื้นที่อีอีอีซี และพื้นที่อื่น เพราะในอนาคตต้องมีพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอีกหลายภูมิภาค ภาคตะวันตก ภาคใต้ และภาคอีสาน โดยคณะกรรมการโลจิสติกส์จะมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน.-สำนักข่าวไทย