กรุงเทพฯ 2 ส.ค. – หอการค้าไทยประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง พบว่ามีผลกระทบให้พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 838,000 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุด มีมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น เกือบ 10,000 ล้านบาท ฉุดเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าร้อยละ 3
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยต่อสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562 จากหน่วยงานภาครัฐด้านการเกษตร และภาคเอกชนจากหอการค้าจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 109 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ปัญหาภัยแล้งส่วนใหญ่จะกระทบภาคการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรลดลง จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร วันที่ 1 สิงหาคม 2562 พบพื้นที่ทำการเกษตรเสียหายแล้วกว่า 838,000 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดกว่า 410,000 ไร่ มีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 7,500 ล้านบาท รองลงมาเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ส่งผลให้การประเมินเบื้องต้นมีมูลค่าความเสียหายภาพรวมแล้วกว่า 9,800 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาภัยแล้งตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศสถานการณ์คลี่คลายเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งเพียง 1 จังหวัดเท่านั้น น่าจะทำให้ปัญหาคลายตัวลง เพราะภาครัฐจะเร่งบริหารจัดการน้ำ หรือทำฝนเทียม แต่หากยังเกิดภาวะภัยแล้งยืดเยื้อออกไปอีก 1 เดือน จะเพิ่มมูลค่าความเสียหายเป็น 18,000 ล้านบาท แต่หากยื้อเยื้อไป 2 เดือนถึงเดือนกันยายน จะเริ่มมีผลต่อข้าวนาปี มูลค่าความเสียหายจะเพิ่มเป็น 37,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 หรือขยายตัวร้อยละ 2.9
ด้านว่าที่ร้อยเอกจิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่า หากฝนเริ่มตกมากขึ้นตั้งแต่ตอนนี้ยังพอบรรเทาผลกระทบต่อการปลูกข้าวนาปีได้ เพราะหากยื้ดเยื้อ ประกอบกับการส่งออกชะลอตัวเศรษฐกิจฐานรากจะยิ่งได้รับผลกระทบ ซึ่งรัฐบาลควรเร่งมาตรการช่วยเหลือปัจจัยการเกษตร และกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน.-สำนักข่าวไทย