กรุงเทพฯ 30 ก.ค. – สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มิ.ย.หดตัวร้อยละ 5.54 จากช่วงเดียวกันปีก่อน มากสุดในรอบ 29 เดือน เหตุจากสงครามการค้าโลกทำให้การค้าชะลอตัว
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI เดือนมิถุนายน2562 ปรับลดลงคิดเป็นร้อยละ 5.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดนับจากปรับฐานดัชนี MPI เมื่อเดือนมกราคม 2559 ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 29 เดือน ส่งผลภาพรวม MPI ไตรมาส 2 หดตัวลงร้อยละ 2.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ การผลิตรถยนต์เดือนมิถุนายน 2562 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 8.52 โดยมาจากยอดขายในประเทศที่หดตัวลงร้อยละ 2.1 เพราะการเข้มงวดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ นับเป็นการลดลงเป็นเดือนแรกในรอบ 30 เดือน ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์ยังขยายตัวร้อยละ 2.4 ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันปิโตรเลียม ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และเครื่องประดับแท้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากความต้องการบริโภคในประเทศและคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ยกเว้นน้ำมันปิโตรเลียมที่มีการซ่อมบำรงโรงกลั่นตามวาระการตรวจซ่อมบำรุงครั้งใหญ่
ขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อดัชนี MPI ได้แก่ น้ำมันปาล์ม เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่มและเบียร์
ส่วนประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตเดือนกรกฎาคม 2562 ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่มีต่อจีน รวมถึงประเทศอื่น ๆ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหักทองเดือนมิถุนายน 2562 ติดลบร้อยละ 4.0 ติดลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน อาจส่งผลต่อ MPI ในช่วงเวลาข้างหน้า ผลกระทบจากภัยแล้ง อาจส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมที่ต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตรและภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมช่วงที่เหลือปี 2562 ประเมินว่าจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก จากผลของฐานที่ต่ำในปี 2561 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะผลักดันนโยบายที่สอดคล้องกับที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง.-สำนักข่าวไทย