ราชบพิธ 30 ก.ค. – ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย คาดส่งออกปี 62 ติดลบครั้งแรกในรอบ 4 ปี แนะเปิดตลาดใหม่ จับตาเงินบาท-ค่าแรงขั้นต่ำ
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สงครามการค้าจีน-สหรัฐที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลก คาดการณ์ส่งออกไทยปี 2562 ติดลบครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 251,338 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว -0.64% ซึ่งการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็หดตัวลงเช่นเดียวกับไทย โดย 5 เดือนแรกของปี 2562 อินโดนีเซียส่งออกหดตัวถึง -9.5% เกาหลีใต้ -7.4% และญี่ปุ่น -6.2%
นายอัทธ์ กล่าวว่า การส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2562 ต่ำสุดในรอบ 4 ปี อยู่ที่ -2.6% ส่วนครึ่งหลังของปี 2562 คาดจะขยายตัวได้ 1.6% โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 128,367 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถ้าต้องการให้การส่งออกของไทยปีนี้ไม่หดตัว หรือโต 0% จะต้องเร่งผลักดันการส่งออกครึ่งปีหลังให้มีมูลค่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 21,664 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 670,000 ล้านบาท คิดเป็น 2.9% ต่อเดือน สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่จัดทำเร่งด่วน คือ เร่งผลักดันตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่เพียงจีนและสหรัฐ เช่น อินเดีย แอฟริกา เอเชียกลาง เป็นต้น พร้อมจัดกิจกรรมชวนช้อปชิมในประเทศต่าง ๆ
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกไทยครึ่งปีหลัง 2562 คือ ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงจากสงครามการค้าจีนและสหรัฐที่ยังยืดเยื้อ ด้านค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง คาดเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30 – 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี ซึ่งจะกระทบการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าหมวดยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาว มันสำปะหลัง และเครื่องใช้ไฟฟ้า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย ราคาน้ำมันโลกผันผวน
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทำให้ค่าแรงของไทยสูงขึ้นเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และบรูไน โดยค่าจ้างที่เปลี่ยนแปลงไป 1% คาดจะส่งผลกระทบให้การส่งออกลดลง 0.06% ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากับมีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นประมาณ 30% จะส่งผลกระทบให้การส่งออกลดลง 1.8.% หรือมีมูลค่าประมาณ 4,524 ล้านดอลลาร์สหรัฐ. – สำนักข่าวไทย