ธปท. 25 ก.ค. – นักวิชาการแนะรัฐบาลออกมาตราการดูแลช่วยเหลือแรงงานที่มีลูก เหตุได้ค่าจ้างต่ำกว่าคนโสด
สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ นำเสนอผลงานวิจัยช่องว่างค่าจ้างระหว่างชายหญิงและผลของการมีลูกในประเทศไทย นางศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ช่องว่างค่าจ้างระหว่างชายหญิงในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2528 ค่าจ้างแรงงานชายสูงกว่าค่าจ้างแรงงานหญิงอยู่ร้อยละ 20 เช่น ถ้าแรงงานชายได้ค่าจ้าง 100 บาท แรงงานหญิงได้ค่าจ้างเพียง 80 บาท แต่ปัจจุบันค่าจ้างเฉลี่ยระหว่างชายและหญิงไม่แตกต่างกัน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจและสังคมเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานและมีบทบาทมากขึ้น ผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น สัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานการผลิต ภาคอุตสาหกรรมจนถึงภาคบริการเพิ่มมากขึ้น จากเดิมเน้นการทำงานภาคเกษตร รวมทั้งสัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานในกลุ่มวิชาชีพ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากร้อยละ 35 ระหว่างปี 2528-2538 เป็นร้อยละ 51 ระหว่างปี 2550 – 2560 ขณะเดียวกันภาวะการกีดกันเพศหญิงในตลาดแรงงานไทยลดลงและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงไทยมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้พบผลกระทบเชิงลบต่อค่าจ้างของแรงงานที่มีลูก โดยแรงงานที่มีลูกจะมีระดับค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานที่ไม่มีลูก แบ่งเป็นแรงงานชายที่มีลูกได้ค่าจ้างต่ำลงร้อยละ 17 เช่น ค่าจ้าง 100 บาท จะเหลือ 83 บาท ส่วนแรงงานหญิงที่มีลูก ค่าจ้างเฉลี่ยต่ำลงร้อยละ 22 เช่น ค่าจ้าง 100 บาท เหลือ 78 บาท เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะแรงงานหญิงมีแนวโน้มจะลดชั่วโมงการทำงานลง เนื่องจากต้องแบ่งสรรเวลาไปเลี้ยงดูลูก
นางศศิวิมล กล่าวว่า ช่องว่างค่าจ้างระหว่างกลุ่มแรงงานที่มีลูกและแรงงานที่ไม่มีลูกนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อาจส่งผลให้แรงงานไทยมีลูกน้อยลง หรืออาจออกจากตลาดแรงงาน จึงเห็นว่าภาครัฐควรที่จะช่วยแก้ไข ช่วยบรรเทาปัญหาการแบกรับต้นทุนนี้ ด้วยการมีมาตรการเข้ามาดูแลตั้งแต่เด็กแรกเกิด ทั้งเรื่องของคุณภาพชีวิตจนถึงการศึกษาเหมือนกับประเทศสิงคโปร์ เพื่อช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็กให้ดีและมีคุณภาพ.-สำนักข่าวไทย