กรุงเทพฯ 23 ก.ค. – เผยมติ กบง.สมัย “ศิริ” เห็นชอบสร้างคลังแอลเอ็นจีภาคใต้แห่งใหม่ 5 ล้านตัน/ปี ในปี 2565 กำหนดในแผนก๊าซ รอดู “สนธิรัตน์” จะหนุนให้ใครนำเข้า หลังจากคลังที่ 3 ของประเทศ ให้ “กัลฟ์-ปตท.” ร่วมทุนนำเข้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ พ้นตำแหน่ง รมว.พลังงาน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ทยอยเปิดเผยมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังาน (กบง.) และมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเว็บไซต์ สนพ. หลังจากที่ไม่ได้เปิดเผยมานาน 5 เดือน โดยมีหลากหลายเรื่องที่สำคัญ และต้องเสนอนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานคนปัจจุบันดำเนินการต่อ เช่น แนวทางการจัดทำแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561-2580 (Gas Plan 2018) ที่ กบง.เห็นชอบเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 โดยจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงจำเป็นต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) มาทดแทน โดยในส่วนของภาคใต้จำเป็นต้องการก่อสร้างคลังแอลเอ็นจีแห่งใหม่ ( LNG TERMINAL) ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขนาด 5 ล้านตัน/ปี ในปี 2565 รองรับโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีที่จะสร้างขึ้น 1,400 เมกะวัตต์ และต้องเร่งตัดสินใจในการจัดหาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา โดยอาจเจรจาซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA หรือจัดตั้งหรือก่อสร้างสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (FSRU) เพื่อนำเข้า LNG ในปี 2565
ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าการจัดหาจะเพียงพอกับความต้องการใช้ถึงปี 2572 โดยจำเป็นต้องจัดส่งทางระบบท่อส่งก๊าซฯ ใหม่จากจังหวัดนครราชสีมาไปยังโรงไฟฟ้าน้ำพองและโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผน PDP2018 และการจัดหาก๊าซฯ ผ่านโครงข่ายท่อบนบก พบว่าการจัดหาจะเพียงพอกับความต้องการใช้ถึงปี 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ต้องจัดหา LNG เพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ ในปัจุบันคลังหรือสถานีนำเข้าแอลเอ็นจี มีแล้ว 2 แห่ง ของ ปตท.ใน จ.ระยอง คือ มาบตาพุด 11.5 ล้านตัน/ปี และหนองแฟบ (กำลังก่อสร้าง) 7.5 ล้านตัน/ปี ขณะที่คลังที่ 3 รัฐบาลเห็นชอบให้กัลฟ์ฯ และ ปตท.ร่วมทุนก่อสร้างตามโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาตาพุดระยะที่ 3 คาดรองรับการนำเข้าแอลเอ็นจี 10 ล้านตัน/ปี ดังนั้น หากสถานีสุราษฎร์ธานีเกิดขึ้นจะเป็นแห่งที่ 4 ขณะที่รัฐบาลได้อนุมัติให้ กฟผ.นำเข้าในรูปแบบ FSRU อีก 5 ล้านตัน
ส่วนกรณีการนำเข้าแอลเอ็นจี โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 1.5 ล้านตัน โดยใช้สถานีนำเข้ามาบตาพุดนั้น กบง.ได้มอบหมายให้ กฟผ. หารือกับ ปตท. ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในการบริหารจัดการการนำเข้า LNG เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay (ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย) โดยให้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) และให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอ กบง.ในชุดใหม่ต่อไป
ส่วนมติ กบง.วันที่ 3 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบให้กลุ่ม บมจ.ราชกรุ๊ป (RATCH) ดำเนินการโรงไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ โดยให้กลุ่ม RATCH เป็นผู้รับผิดชอบเงินลงทุนการปรับปรุงท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสายส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับโครงการ และ กฟผ.ได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้า (PPA ) ไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 โดยใช้หลักเกณฑ์โครงสร้างค่าไฟฟ้า IPP ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่ใช้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ในอดีต (Gulf PD 2,500 เมกะวัตต์) โดยผลการวิเคราะห์ กลุ่ม RATCH เสนอราคาต่ำกว่า Gulf PD 2,500 เมกะวัตต์ 0.0038 บาทต่อหน่วย โดยราคาเฉลี่ย 25 ปี อยู่ที่ 1.9930 บาทต่อหน่วย. -สำนักข่าวไทย