กรุงเทพฯ 23 ก.ค. – นักวิชาการด้านทรัพยากรน้ำระบุน้ำในเขื่อนน้อยปีนี้ไม่ได้วิกฤติที่สุดอย่างที่หลายฝ่ายกังวล ชี้มีปัจจัยทั้งจากความผันผวนของสภาพอากาศ รวมถึงการไม่สามารถควบคุมการพื้นที่เพาะปลูกให้เป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดซ้ำซากทุกปี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐ มาแจ้ง ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปีนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อย แต่ไม่ได้วิกฤติที่สุดอย่างที่หลายฝ่ายกังวล จากสถิติรอบ 10 ปี พบว่าช่วงเวลาเดียวกันมีหลายปีที่น้ำในเขื่อนหลักน้อยกว่านี้ เช่น เขื่อนภูมิพลปี 2553 2556 2557 2558 และ 2559 ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ปี 2556 2557 และ 2558 สำหรับปีนี้สาเหตุที่ทำให้ปริมาณฝนน้อยตั้งแต่ต้นฤดูและทิ้งช่วงนานเกิดจากความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ แต่ที่สำคัญ คือ การที่ภาครัฐไม่สามารถควบคุมพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก โดยปกติกรมชลประทานจะกำหนดแผนการจัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำในเขื่อนควบคู่กับการพยากรณ์อากาศ แม้ภาครัฐจะกำหนดแผนการเพาะปลูกโดยเฉพาะข้าวว่าพื้นที่ไหนควรปลูกเท่าไร แต่เกษตรกรจะปลูกเกินกว่าแผน เมื่อกรมชลประทานจำเป็นต้องจำกัดการส่งน้ำ ก็จะออกมาเรียกร้องให้ระบายน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนเกินกว่าแผนที่วางไว้ ซึ่งภาครัฐควรแก้ปัญหาโดยกำหนดมาตรการให้ชัดเจนว่าหากเกษตรกรฝืนเพาะปลูกเกินกว่าแผนหรือหากแจ้งแล้วว่าไม่ให้ทำนาต่อเนื่องแล้วยังทำจะไม่ระบายน้ำให้ รวมถึงหากได้รับความเสียหายรัฐจะไม่ชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐ กล่าวต่อว่า ปัญหาอีกประการที่ทำให้กรมชลประทานทำงานลำบาก คือ กรณีฝนตกชุกจนระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสูงใกล้ถึงทางระบายน้ำล้น (Spillway) ทั้งประชาชนและสื่อมวลชนจะตระหนกตกใจ ที่จริงแล้วการที่ระดับน้ำสูงถึงทางระบายน้ำล้นเป็นปกติของการเก็บกักน้ำในเขื่อน เขื่อนออกแบบให้มีทางระบายน้ำล้น เพื่อเป็นทางระบายน้ำออกอีกทางหนึ่งไม่ได้หมายความว่า น้ำจะทะลักเขื่อนหรือเขื่อนจะแตก
“แรงกดดันจากปัญหาดังกล่าวทำให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำด้วยความอึดอัด ซึ่งภาครัฐต้องให้ความรู้ประชาชนและสื่อมวลชน เพื่อไม่ให้ตระหนกตกใจแล้วเรียกร้องให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำออกหากทำเช่นนั้นต่อมาฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนน้ำในเขื่อนจะมีน้อยส่งผลไปถึงฤดูแล้ง แต่จากการพยากรณ์อากาศปลายเดือนกรกฎาคมฝนจะกลับมาตกชุกอีกครั้งจะทำให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐ กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำปีนี้ที่ดูวิกฤติ เพราะมีปัญหาน้ำแม่น้ำโขงลดลงจากการเตรียมทดสอบเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำที่เขื่อนไซยะบุรีในลาว อีกทั้งจีนสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงหลายเขื่อน จึงส่งผลให้ระดับน้ำจังหวัดที่ติดลำน้ำโขงลดต่ำลงไปด้วย เมื่อดูจากแผนภูมิการขึ้นลงของลำน้ำโขงปีนี้อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พบว่า ลดลงเป็นขั้นบันไดจากกักน้ำของเขื่อนต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นปัญหาเช่นนี้ทุกปี ดังนั้น ไทยต้องหาแนวทางรับสถานการณ์เช่น เขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี เปิดบานประตูระบายน้ำไว้ตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน หากน้ำโขงต่ำต้องลดบานประตูลง แม่น้ำเลยที่ไหลไปลงสู่น้ำโขง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และแม่น้ำสงครามที่ไหลลงสู่น้ำโขงที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม สมควรมีประตูระบายน้ำบริเวณปากแม่น้ำโดยเปิดบานระบายเมื่อลำน้ำสายหลักในไทยมีปริมาณมากและปิดบานระบายเพื่อเก็บกักน้ำ เมื่อลำน้ำสายหลักมีปริมาณน้ำน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน.-สำนักข่าวไทย