กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – ก.พลังงานสั่ง ปตท.อุ้มราคาแอลพีจี -เอ็นจีวี ต่ออีก 2 เดือน พร้อมระดมสรรพกำลังร่วมแก้ภัยแล้ง พร้อมเตรียมออก “เมกะแพลน” สัปดาห์หน้า ด้านเอกชนหนุน 12 ข้อหลักของรัฐบาล ชี้ระบบNET METERING จะทำให้โซลาร์รูฟท็อฟเฟื่องฟู
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับข้าราชการกระทรวงพลังงาน เพื่อกำหนดแนวทางบริหารนโยบายเร่งด่วน และเตรียมพร้อมการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ โดยระบุว่าได้ขอความร่วมมือ บมจ.ปตท.รับภาระในการช่วยอุดหนุนราคาแอลพีจีแก่กลุ่มหาบเร่แผงลอยกว่า 200,000 ราย เดือนละ 30 ล้านบาท และอุดหนุนราคาเอ็นจีวีแก่รถโดยสารสาธารณะต่อไปอีก 2 เดือน เพื่อช่วยลดภาระภาคประชาชน หลังจากนั้นทางรัฐบาลจะอุดหนุนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
สำหรับนโยบายหลัก 12 ด้านของรัฐบาล โดยข้อ 5.6.3 และ ข้อ 5.6.4 เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงาน เช่น ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้าสุทธิในโครงการส่งเสริมพลังงานทดแทนโซลาร์รูฟท็อปนั้น ทางกระทรวงพลังงานจะมีการกำหนดรายละเอียดต่อไป โดยยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเริ่มใช้ระบบนี้เมื่อใด
“หลักการของนโยบายของผม คือ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ต้องมีพลังงานราคาถูก ให้ดำรงชีพอยู่ได้ หลังแถลงนโยบายรัฐบาล 1 สัปดาห์ จะประมวลนโยบายพลังงานแล้วออกมาเป็น MEGA PLAN โดยในเรื่องไฟฟ้าต้องมีนโยบายประหยัดพลังงานด้วย ไม่ใช่ออกเป็นแคมเปญเล็ก ๆ รวมถึงให้นำกองทุนส่งเสริมอนุรักษ์มาช่วยประหยัดพลังงาน” นายสนธิรัตน์ กล่าว
ส่วนเรื่องร้อน ๆ ของกระทรวงพลังงานไม่ว่าจะเป็นการปรับแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว และเรื่องที่เชฟรอนฯ จะฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการ เพราะไม่เห็นด้วยกับการวางหลักประกันการรื้อถอนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมที่อายุสัมปทานหมดลงนั้น ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและเจรจา โดยจะหารือเรื่องเหล่านี้สัปดาห์หน้า ยืนยันจะคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุด
ขณะเดียวกันได้ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดช่วยหาแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งของประชาชน โดยเฉพาะโครงการโซลาร์สูบน้ำบาดาล ว่าจะมีแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมได้หรือไม่ ให้พลังงานจังหวัดสำรวจ โดยตนจะลงพื้นที่วันเสาร์นี้เพื่อร่วมเร่งรัดการดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วน ช่วยแก้ไขความเดือดร้อน
ส่วนแนวทางแก้ปัญหาเรื่องราคาปาล์มน้ำมันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกระทรวงพลังงานได้มีการเสนอแผนระยะสั้นและระยะกลางให้กับคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติถึงแนวทางที่เหมาะสม โดยแผนระยะสั้นได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการช่วยเหลือตามแนวทางที่เคยดำเนินการไว้ ส่วนแผนระยะกลางจะมีการขับเคลื่อนการใช้ B10 และ B20 ให้ชัดเจน ซึ่งได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนและเหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วนของโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกแอลพีจีภาครัวเรือน ที่ ปตท.ร่วมรับภาระช่วยเหลือหาบเร่แผงลอยตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2562 ปตท.ได้ปรับการให้ส่วนลดการอุดหนุนตามการใช้จริงไม่เกินเดือนละ 150 กก. เป็นไม่เกิน 75 กก. โดยให้ส่วนลด 37.50 บาท/ถังขนาด 15 กก. โดยการอุดหนุนจะสิ้นสุดสิ้นเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่ง ปตท.อุดหนุนโครงการนี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558-มิถุนายน 2562 รวมแล้ว 1,936 ล้านบาท ส่วนเอ็นจีวีรถสาธารณะตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ระบุจะปรับขึ้นอีก 1 บาท/กก. ในวันที่ 16 กันยายน 2562 หรือปรับเป็น 12.62 บาท/กก. จากอัตราปัจจุบันอยู่ที่ 11.62 บาท/กก.
สำหรับนโยบายหลักด้านพลังงานของรัฐบาลกำหนดไว้ในข้อ 5.6.3 จะเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยกระจายชนิดของเชื้อเพลิงทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ เปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงาน ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมัน ดีเซลหมุนเร็ว B20 และ B100 เพื่อเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบ และจัดทําแนวทางการใช้มาตรฐานน้ำมัน EURO5 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน อาทิ เทคโนโลยีระบบไฟฟ้า อัจฉริยะ เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดโครงสร้าง ตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ อาทิ แพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ารูปแบบใหม่ อาทิ ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้าสุทธิพร้อมทั้งปรับปรุงระบบการกํากับ ดูแลกิจการด้านพลังงานให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจด้านพลังงานในอนาคต ดําเนินการให้มีการสํารวจและค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ และร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาพลังงาน
ข้อ 5.6.4 ยกระดับโครงข่ายระบบไฟฟ้าและพลังงานให้มีความทันสมัย ทั่วถึง เพียงพอ มั่นคง และมีเสถียรภาพ โดยจัดทําแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะทั้งระบบให้สามารถรองรับเทคโนโลยีด้านพลังงานสมัยใหม่ในอนาคตมุ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายภายในประเทศให้เชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตก ตะวันออก เหนือ และใต้ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการระบบไฟฟ้าและพลังงานระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง และมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในภาคการผลิต
นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG กล่าวว่า เห็นด้วยกับ 2 นโยบายด้านพลังงาน โดยเฉพาะระบบแบบซื้ิอขายหักลบกลบหนี้ (NET METERING) ระบบนี้จะส่งเสริมให้เกิดโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับพันเมกะวัตต์ดีกว่านโยบายเดิมที่ซื้อไฟฟ้าส่วนเหลือด้วยราคา 1.68 บาท/หน่วย เพราะภาคเอกชนจะเร่งลงทุนผลิตใช้เองเป็นหลักและที่เหลือส่งเข้าระบบโดยใช้การหักหน่วยซื้อขาย วิธีนี้รัฐก็ไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุด้วย FIT แต่อย่างใด. -สำนักข่าวไทย