กรุงเทพฯ 19 ก.ค. – สทนช.ส่งหนังสือด่วนถึง สปป ลาว ขอให้ชะลอทดสอบระบบไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี จนกว่าจีนจะปล่อยน้ำเพิ่ม เนื่องจากสร้างผลกระทบในหลายจังหวัด สำนักข่าวไทย ตรวจสอบระบบการทำงานของเขื่อนแห่งนี้จะสร้างผลกระทบอย่างที่หลายฝ่ายกังวลหรือไม่ ติดตามจากรายงาน
หลังประชาชนในหลายจังหวัดริมแม่น้ำโขง ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำโขงลดต่ำลงมากที่สุดในรอบ 28 ปี เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ชี้แจงว่า นอกจากปริมาณฝนที่ตกลงมาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติแล้ว ยังเกิดจากเขื่อนจิ่งหงของจีนปรับลดการระบายน้ำ ระหว่างวันที่ 9-18 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโรงผลิตพลังน้ำ ซึ่ง สทนช.ได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการทั้ง 8 จังหวัดริมโขง ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม
อีกสาเหตุสำคัญมาจากการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ของ สปป ลาว ช่วงวันที่ 15-29 กรกฎาคม ทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุด สทนช.ได้ประสานไปยัง สปป ลาว ขอให้ชะลอการทดสอบระบบดังกล่าวออกไป 2-3 วัน เพื่อรอให้น้ำจากเขื่อนจิ่งหงไหลลงมาถึงก่อน คาดภายในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ สถานการณ์ระดับน้ำโขงจะเข้าสู่ภาวะปกติ
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองไซยะบุรี ทางตอนเหนือของ สปป ลาว ใช้งบลงทุนกว่า 150,000 ล้านบาท เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายน้ำล้น ไม่มีการกักเก็บน้ำเหมือนเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำทั่วไป เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 ทดสอบระบบเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ก่อนจำหน่ายไฟฟ้าเต็มรูปแบบ 29 ตุลาคมนี้
เขื่อนไซยะบุรี เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายน้ำล้นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ทำสัญญาซื้อขายให้ กฟผ. 95% ส่วนอีก 5% ขายให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว และเมื่อหมดสัมปทาน โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะตกเป็นของ สปป ลาว
ลักษณะโครงสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 810 เมตร ความสูงหัวน้ำใช้งาน (Rated Net Head) 28.5 เมตร มีการติดตั้งประตูระบายน้ำเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า 10 บาน กำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 7,370 ล้านหน่วย
โครงการนี้ออกแบบให้มีประตูน้ำสำหรับเรือสัญจรติดกับเขื่อนด้านขวา กว้าง 12 เมตร ยาว 120 เมตร เพื่อรองรับการสัญจรทางน้ำ สำหรับเรือขนส่งขนาด 500 ตัน และมีทางปลาผ่านเพื่อรักษาพันธุ์ปลา กว้าง 10 เมตร ติดกับเขื่อนด้านซ้าย เมื่อโครงการสร้างแล้วเสร็จ จะปล่อยน้ำไหลผ่านในแต่ละวันเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลเข้า โดยไม่มีการกักเก็บน้ำไว้ ดังนั้น ปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงจะเป็นไปตามธรรมชาติตลอดทั้งปี
เมื่อเขื่อนไซยะบุรีก่อสร้างแล้วเสร็จ จะส่งพลังไฟฟ้าให้ประเทศไทยได้ 1,220 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 29 ปี ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 6,929 ล้านหน่วย มีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ณ ชายแดน 2.16 บาท/กิโลวัตต์ ตลอดอายุสัญญา 29 ปี
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีข้อกังวลว่า หากเขื่อนแห่งนี้เปิดใช้งานเต็มรูปแบบ จะยิ่งทำให้พื้นที่ทางตอนล่างของเขื่อน เช่น ภาคอีสานของไทย และประเทศท้ายน้ำอย่างกัมพูชาและเวียดนาม ได้รับผลกระทบในหลายด้าน ปริมาณน้ำโขงที่ผันผวน อาจทำให้ระบบนิเวศในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป และกระทบต่อการอพยพของปลาในลุ่มน้ำโขง อย่างน้อย 23 สายพันธุ์. – สำนักข่าวไทย