กรุงเทพฯ 15 ก.ค. – สมาคมประมงฯ แจงเรือจับโลมาตามคลิปไม่ใช่เรือประมงพาณิชย์สัญชาติไทย แต่เป็นเรือสัญชาติมาเลเซียมีไต้ก๋งและคนงานส่วนหนึ่งเป็นคนไทย
แหล่งข่าวในสมาคมประมงแห่งประเทศไทยระบุถึงคลิปปรากฎในโซเชียลมีเดียเป็นภาพเรือประมงพาณิชย์ลำหนึ่งจับโลมาหลายตัวขึ้นเรือ โดยมีไต้ก๋งคนไทยสั่งการ รวมทั้งมีคนงานส่วนหนึ่งเป็นคนไทย จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า เรือลำดังกล่าวชื่อ “เรือ KNF.7779” เป็นเรือสัญชาติมาเลเซีย ก่อนหน้านี้เป็นเรือ 2 สัญชาติ คือ ถือธงสัญชาติไทยและมาเลเซีย แต่ต่อมากฎหมายประมงฉบับใหม่ของไทยกำหนดให้เรือที่ถือธงสัญชาติไทยร่วมกับสัญชาติอื่นต้องเลือกเพียงสัญชาติเดียว เรือลำนี้จึงถอนสัญชาติไทยและคืนเอกสารเรือไทยแล้วจดทะเบียนภายใต้สัญชาติมาเลเซีย
แหล่งข่าวชี้แจงว่าผลจากกฎหมายประมงดังกล่าว ทำให้มีเรือหลายลำเปลี่ยนไปจดทะเบียนใช้สัญชาติเพื่อนบ้าน แต่ไต้ก๋งและคนงานไทยยังคงรับจ้างทำงานบนเรือ อีกทั้งข้อสังเกตการตั้งชื่อเรือซึ่งลงท้ายด้วยเลข 4 ตัวนั้น เรือสัญชาติไทยไม่มี ส่วนพิกัดที่จับโลมานั้น จากการประสานงานเบื้องต้นกับผู้ประกอบการประมงมาเลเซียยืนยันว่าขณะจับโลมาอยู่ในน่านน้ำมาเลเซีย แต่ต้องรอฟังคำยืนยันจากกรมประมงของไทยถึงรายละเอียดต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ไทยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกําหนดให้สัตว์นํ้าชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดจับหรือนําขึ้นเรือประมง ตามความในมาตรา 66 แห่งพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. 2558 ได้แก่ เต่าทะเลทุกชนิดในวงศ์ (Family) Cheloniidae และ Dermochelyidae รวมทั้งไข่ด้วย พะยูน (Dugong dugon) โลมาและวาฬทุกชนิดในอันดับ (Order) Cetacea ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus) กัลปังหาดําทุกชนิดในอันดับ (Order) Antipatharia กัลปังหาทุกชนิดในอันดับ (Order) Gorgonacea ปะการังแข็งทุกชนิดในอันดับ (Order) Scleractinia และในอันดับ (Order) Stylasterina ปะการังไฟทุกชนิดในสกุล (Genus) Millepora ปะการังสีฟ้าทุกชนิดในอันดับ (Order) Helioporacea ปะการังอ่อนทุกชนิดในอันดับ (Order) Alcyonacea ดอกไม้ทะเลทุกชนิดในอันดับ (Order) Actiniaria หอยมือเสือทุกชนิด (Tridacna spp.) หอยสังข์แตร (Charonia tritonis) โดยความตามประกาศนี้ยกเว้นกรณีจําเป็น เพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น ซึ่งประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2559
ด้านแหล่งข่าวจากกรมประมงระบุว่าได้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับคลิปดังกล่าว หากเป็นเรือชื่อ KNF 7779 จริงตามที่ได้รับรายงานเบื้องต้นพบว่า เดิมเคยถือสัญชาติไทยชื่อเรือ ส.พรเทพนาวี 9 หมายเลขทะเบียน 302102291 ต่อมาคืนสัญชาติไทยแล้วจดทะเบียนสัญชาติมาเลเซีย แต่ไต้ก๋งและคนงานส่วนหนึ่งเป็นคนไทย ซึ่งกรมประมงกำลังตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมถึงวันเวลา พิกัดการทำประมงของเรือลำดังกล่าว รวมทั้งการจับโลมาขึ้นเรือว่าอยู่ในน่านน้ำไทยหรือไม่
ทั้งนี้ กรมประมงไม่มีระบบติดตามเรืออิเล็กทรอนิกส์ของเรือสัญชาติอื่น แต่หากเข้ามาในน่านน้ำไทยอาจมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของกรมประมงและหน่วยงานอื่น ๆ ทราบเบาะแส หากกระทำการจับโลมาในน่านน้ำไทยจะมีความผิดฐานรุกล้ำน่านน้ำและสิทธิ์อาณาเขตการทำประมง
ขณะนี้กรมประมงกำลังเร่งตรวจสอบข้อมูลทุกด้าน เนื่องจากหากเป็นเรือสัญชาติอื่นมากระทำผิดในน่านน้ำไทย ซึ่งเป็นปัญหาระหว่างประเทศที่มีความละเอียดอ่อน จึงต้องมีหลักฐานครบถ้วน แต่คงตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่าไม่ใช่เรือสัญชาติไทย ถ้าเป็นเรือสัญชาติไทยแล้วจับโลมาขึ้นเรือตามคลิปจะมีความผิดตามมาตรา 66 ตาม พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดห้ามนำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์น้ำหายาก 13 ชนิดขึ้นเรือ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 30,000 – 300,000 บาท หรือปรับเป็น 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำ โดยการตรวจสอบว่าเป็นเรือสัญชาติไทยหรือไม่ ทำได้ไม่ยาก เนื่องจากติดตามด้วยระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) สามารถทราบทั้งวันเวลาที่เรือจอดหรือออกทำประมง ตลอดจนพิกัดของเรือประมงสัญชาติไทยทุกลำ
ขณะที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมงปัตตานีได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น เรือประมง ส.พรเทพนาวี 9 ทบ.302102291 รายการแจ้งเรือออก ( PO) ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 รายการแจ้งเรือเข้า (PI) ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 เรือประมงลำนี้ได้ขอยื่นถอนทะเบียนเรือไทยเพื่อทำการซื้อขายให้กับประเทศมาเลเซีย โดยได้รับการยกเลิกทะเบียนเรือและเพิกถอนทะเบียนเรือไทย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 และมีการโอนทะเบียนให้กับเจ้าของใหม่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ตามหลักฐานจากกรมเจ้าท่าภูมิภาค สาขาปัตตานี ได้เดินทางออกจากท่าปัตตานี และได้รับหมายเลขทะเบียนเรือมาเลเซีย KNF 7779 จากการตรวจสอบเรือประมงลำดังกล่าวได้ทำการประมงอยู่ในมาเลเซียตั้งแต่ถอนทะเบียนเรือไทยไปแล้ว โดยไม่ได้กลับมาในประเทศไทย และตรวจสอบถึงปัจจุบันเรือลำนี้ยังคงทำการประมงอยู่ประเทศมาเลเซีย.-สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2019/07/1563169562277.jpg)