อาเซอร์ไบจาน 7 ก.ค.62 – ที่ประชุมมรดกโลกครั้งที่ 43 ไม่รับรองกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ให้ไทยเพิ่มเติมเอกสารในปีหน้า
ที่ประชุมมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน บรรจุวาระการพิจารณากลุ่มป่าแก่งกระจาน เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อเวลา 19.40น. (7 ก.ค.) ตามเวลาประเทศไทย หลังจากคณะทำงาน 6 ประเทศจากกรรมการรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลก 21 คือ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นอร์เวย์ คิวบา ตูนิเซีย และคูเวต ไปหารือในรายละเอียดร่วมกันว่าจะให้กลุ่มป่าแก่งกระจานของไทยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอีกหนึ่งแห่งในปีนี้หรือไม่
ซึ่งที่ประชุมมีมติไม่รับรองขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกปีนี้ และให้เวลา 3 ปี เสนอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อชี้แจงในข้อกังวล 3 เรื่องใหม่ คือ 1.ให้ดำเนินการเรื่องขอบเขตระหว่างไทยและเมียนมา 2.ให้ทำข้อศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับขอบเขตพื้นที่ หลังปรับลดลงยังอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามระเบียบข้อที่ 10 เรื่องความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ในการขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกทางธรรมชาติ และ 3.ให้จัดการในข้อห่วงกังวลเรื่องชุมชนในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน
3 วันที่ผ่านมา คณะผู้แทนไทย นำโดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วย นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะเจ้าหน้าที่ไทย ได้พยายามชี้แจงข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เนื่องจากเป็นข้อกังวลของออสเตรเลียที่เป็น 1 ใน 6 ประเทศที่เข้ามาเป็นคณะทำงานพิจารณาหาข้อสรุปกลุ่มป่าแก่งกระจาน แต่ก็ไม่เพียงพอให้คณะกรรมการมรดกโลกลงมติเห็นชอบในปีนี้ได้
สำหรับกลุ่มป่าแก่งกระจาน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ราชบุรี เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี รวมพื้นที่ 2,938,909 ไร่ ซึ่งไทยผลักดันขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 มาตั้งแต่ปี 2553 ทำให้ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไม่สามารถผลักดันมรดกโลกแห่งใหม่ได้ในปีนี้ มีเพียง 3 ประเทศที่ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนครั้งนี้ คือ ทุ่งไหหิน ของ สปป ลาว เหมืองถ่านหินเก่า Ombilin (ออบบิลิน) ของ อินโดนีเซีย และพุกาม ของเมียนมา
สำหรับกลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์ และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ได้รับการพิจารณารับรองจากรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก 21 ประเทศ ขึ้นทะเบียนบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ของศูนย์มรดกโลกแล้วในช่วงท้ายของการประชุมวันนี้ (7ก.ค.62) โดหลังจากนี้คณะทำงานจะต้องเตรียมเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อไป.-สำนักข่าวไทย