แพทย์แถลง ‘วินัย ไกรบุตร’ ป่วยโรคตุ่มน้ำพอง ไม่ใช่โรคใหม่ ต้องใช้เวลารักษา

รพ.จุฬาฯ 5 ก.ค.-แพทย์จุฬาฯ แถลง ‘วินัย ไกรบุตร’ เป็นโรคตุ่มน้ำพอง ‘เพมฟิกอยด์’ ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่เกิดจากการแพ้ภูมิ  หรือภูมิเพี้ยน ของร่างกายตัวเอง ไม่ใช่ติดเชื้อ การรักษาต้องใช้เวลา ใช้ยากดภูมิที่เป็น สเตียรอยด์ จะคุมโรคได้ดี  ย้ำโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยต้องพักผ่อนและทำร่างกายให้แข็งแรง 


นพ.ประวิตร อัศวานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ร่างกายของแต่ละคนมักมีโอกาสทำงานผิดปกติ โดยที่ตนเองไม่รู้ตัว อาจเนื่องมาจากสาเหตุที่ระบบอื่นๆ ในร่างกายเข้ามาจัดการควบคุมดูแลกันเอง ทำให้ไม่มีอาการแสดงออกมา ภูมิต้านทานของคนเรานั้น มีหน้าที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม และมะเร็ง คล้ายกับตำรวจ ทหาร ที่คอยปกป้องประเทศ ต้องฆ่าศัตรู โดยต้องไม่ทำร้ายประชาชนของตนเอง แต่บางครั้งภูมิต้าน ทานเหล่านี้ ก็จำผิด เลยกลับมาทำอันตรายอวัยวะของตนเองทำให้เกิด โรค แพ้ภูมิ ตัวเองขึ้น


ในส่วนของโรคตุ่มน้ำพอง เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้ไม่บ่อย แต่ก็ไม่ใช่โรคหายาก สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่มาทำลายโครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกจากกัน กลาย เป็นตุ่มน้ำและแผลถลอก  รอยโรคสามารถพบได้ทั้งผิวหนังและเยื่อบุ โรคที่พบบ่อย มี 2 กลุ่ม ได้แก่ โรคเพมฟิกัสและโรคเพมฟิกอยด์


โดยโรคเพมฟิกัส มักพบในช่วงอายุ 50-60 ปี มีความผิดปกติที่ชั้นผิวหนังกำพร้า จะเกิดในผิวหนังชั้นตื้นกว่า แต่อาจกินบริเวณกว้าง ผู้ป่วยจึงมีแผลเสมือนถูกน้ำร้อนลวกเป็นบริเวณกว้าง และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีแผลถลอกในช่องปากร่วมด้วย  มีอาการเจ็บ และอาจพบแผลถลอกที่เยื่อบุบริเวณอื่นได้ เช่น ทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องคลอดและอวัยวะเพศ ที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่ม

 

ส่วนโรคเพมฟิกอยด์ ที่ ‘วินัย’ เป็น  พบได้บ่อยกว่าโรคเพมฟิกัส มักพบในผู้สูงอายุเกิดจากมีการหลุดลอกของชั้นหนังกำพร้าออกจากชั้นหนังแท้ จะเกิดการแยกชั้นของผิวหนังที่ลึกกว่า แต่ก็มักจะกินบริเวณไม่กว้างมากนัก ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการผื่นแดงคันนำมาก่อน ต่อมาเริ่มมีตุ่มน้ำใสขนาดต่างๆ  กัน โดยตุ่มน้ำมีลักษณะพอง แตกยากหรืออาจแตกออกเป็นแผลถลอก รอยโรคที่เยื่อบุพบได้น้อยกว่าโรคเพมฟิกัส และมักไม่เจ็บ  โดยทั่วไปความรุนแรงของโรคมักน้อยกว่าเพมฟิกัส

ทั้งนี้ โรคตุ่มน้ำพองมักต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาร่วมกับการตรวจทางอิมมูนเรืองแสงในการวินิจฉัยโรคด้วย ยาที่ใช้รักษาเป็นหลักคือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกัน ในโรคเพมฟิกอยด์ที่มีอาการไม่รุนแรง อาจใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือยากลุ่มที่ไม่ใช่ยากดภูมิคุ้มกัน ในรายที่ตุ่มน้ำหรือแผลถลอกมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย 

โรคตุ่มน้ำพองมีการดำเนินโรคค่อนข้างเรื้อรังเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี หลังจากโรคสงบแล้วอาจเป็นซ้ำได้ ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นโรคตุ่มน้ำพอง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรค

สำหรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค ซึ่งขณะนี้ทีมแพทย์ได้ให้การดูแลคุณวินัยอยู่ คือทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือ(Normal saline)ทำความสะอาด ไม่แกะเกาผื่นเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ส่วนแผลในปาก บ้วนน้ำเกลือ งดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ปลาแห้ง ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก  หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องมารักษาต่อเนื่องมาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ทานยาต่อเนื่อง ไม่ควรลดหรือเพิ่มยาเองและดูแลรักษาแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น

สำหรับประเทศไทยพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคเพมฟิกอยด์ ไม่มากแต่พบทุก รพ.ในส่วนของ รพ.จุฬาฯ ในช่วง 5 ปีพบผู้ป่วยโรคนี้ 155 ราย ส่วนปีนี้ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศพบผู้ป่วย 1,300 ราย ส่วนการรักษาด้วยยากดภูมิต้องปรับปริมาณยาไม่มากไม่น้อย จนไปทำลายภูมิคุ้มกัน และดูลักษณะตุ่มพองหยุดการขึ้นใหม่ ซึ่งคุณวินัยต้องเน้นพักผ่อนสั่งร่างกายให้แข็งแรง

ด้าน ‘วินัย ไกรบุตร’ เผยว่า ไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตต้องมาป่วยด้วยโรคนี้ที่ใช้เวลารักษายาวนานมาก เริ่มต้นจาก1 เม.ย.ที่มีตุ่มคันขึ้นที่ฝ่ามือเป็นวง ตุ่มเล็ก เกาจนนอนไม่หลับ ต้องไปหาหมอ เพื่อฉีดยาให้ตุ่มยุบ นับ10 รพ. แต่ไม่หายขาด จนเมื่อ พ.ค.ตุ่มระดมขึ้นทั่วตัว ต้องมารักษาที่รพ.จุฬาฯ .-สำนักข่าวไทย 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ใบประกอบวิชาชีพครู

เตือนคุณครูเปิดเทอมนี้ ต้องมี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู”

เตือนคุณครูเปิดเทอมนี้ ต้องมี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” แนะรีบต่ออายุใบอนุญาต หลังคุรุสภาออกมาตรการ 5 ต. คุมเข้มทุกโรงเรียนทั่วไทย

เริ่ม 1 พ.ค.นี้ นักท่องเที่ยวเข้าไทย ต้องลงทะเบียนบัตร ตม.6 แบบดิจิทัล

เริ่ม 1 พ.ค.นี้ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ต้องลงทะเบียนบัตร ตม.6 แบบดิจิทัล หรือ TDAC ล่วงหน้า อย่างน้อย 3 วันก่อนเดินทาง ตามกฎใหม่ ตม.

พีชเรียกอาต่าย

ผบ.ตร.ไม่ปลื้ม “พีช” โอ้อวดเรียก “อาต่าย” ลั่นไม่ใช่ญาติ

ผบ.ตร.ไม่ปลื้ม “พีช” คู่กรณีรถกระบะ โอ้อวดเรียก “อาต่าย” รู้จักคนในรัฐบาล หวังผลคดี ลั่นไม่ใช่ญาติ สอนลูกเสมออย่าทำตัวเป็นขยะสังคม บอกประชาชนใช้วิจารณญาณเลือกตั้ง

“นายกเบี้ยว” ยอมรับลูกขับรถหวาดเสียว พร้อมชดใช้-ดูแลลุงคู่กรณี

“นายกเบี้ยว” รับจบแทนลูก ยอมรับลูกขับรถหวาดเสียว พร้อมชดใช้ ดูแลลุงคู่กรณี ระบุสอนลูกไม่ดี ไม่มีเวลาให้ลูก ปฏิเสธไม่สนิทกับ ผบ.ตร. อย่าเอาท่านมาแปดเปื้อน ส่วนที่ลูกชายยังไม่ไปเยี่ยมลุงคู่กรณี เนื่องจากกลัวโดนถูกโวยวาย

ข่าวแนะนำ

ลุยรื้อถอนต่อเนื่องเข้าวันที่ 24 จนท.ทำงานหนักตลอด 24 ชม.

เดินหน้ารื้อถอนอาคาร สตง. เข้าสู่วันที่ 24 แล้ว เจ้าหน้าที่ทำงานตลอด 24 ชม. เพื่อให้เสร็จตามแผน ขณะที่ภารกิจค้นหาผู้ติดค้างยังคงดำเนินต่อเนื่อง

ปล่องลิฟต์ตึกถล่ม

กทม.เดินหน้าเจาะปล่องลิฟต์ ค้นหาผู้สูญหายตึก สตง.

ผู้ว่าฯ กทม. เผยปฏิการค้นหาร่างผู้สูญหายจากเหตุตึก สตง.ถล่ม วันนี้เน้นเจาะปล่องลิฟต์-บันไดหนีไฟ หลังวานนี้ (18 เม.ย.) พบผู้เสียชีวิตในจุดดังกล่าวเพิ่มอีก 6 ราย ยืนยัน กทม. ให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการเข้า เก็บพยานหลักฐาน เพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ดังกล่าว