กรุงเทพฯ 23 ม.ค. – ภารกิจสำเร็จ! นำเด็ก 10 เดือน จากหนองคายเข้ากรุงเทพฯ ผ่าตัดหัวใจด่วนที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ผอ.โรงพยาบาลหนองคาย ขอบคุณผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนที่เอื้ออำนวยให้รถรีเฟอร์เดินทางได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กปลอดภัย
ภารกิจช่วยเหลือเด็กชายวัย 10 เดือน โลกโซเชียลช่วยกันโพสต์ ช่วยกันแชร์ตั้งแต่เช้า ทั้งเพจเฟซบุ๊กหน่วยงานราชการและสมาคมกู้ภัยต่างๆ ที่แจ้งประชาสัมพันธ์ขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสนับสนุนการจราจรในเส้นทางหนองคาย-กรุงเทพฯ เพื่อให้รถพยาบาลฉุกเฉินนำตัวเด็กน้อยเดินทางไปผ่าตัดหัวใจเร่งด่วนที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ให้ทันเวลา มีรายงานว่าสาเหตุที่ต้องเดินทางโดยรถยนต์เพราะเป็นเคสด่วน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไม่ได้ เพราะภาวะกดอากาศมีผลต่ออาการผนังหัวใจรั่วของเด็ก
เฟซบุ๊กถนนมิตรภาพ-รถติดบอกด้วย
เป็นเด็กชายอายุ 10 เดือน น้ำหนัก 4 กิโลกรัม ใช้รถรีเฟอร์ ยี่ห้อเมอร์ซิเดสเบนซ์ หมายเลขทะเบียน 2ขห-1873 กรุงเทพมหานคร เดินทางออกจาก รพ.หนองคาย เวลา 07.15 น. วิ่งเข้าพื้นที่ จ.อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และขึ้นดอนเมืองโทลล์เวย์ ทางด่วนขั้นที่ 1 ลงพระราม 4 และมาถึงโรงพยาบาลจุฬาฯ เวลา 13.20 น. รวมเวลา 6 ชั่วโมง 5 นาที ที่ภารกิจสำเร็จลงอย่างสมบูรณ์
ภารกิจนี้ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มที่ ในระหว่างทางมีรถจักรยานยนต์ฉุกเฉินทางการแพทย์ หรือ “ม้าเร็ว” มูลนิธิอุดรสว่างเมธาธรรมสถาน จ.อุดรธานี ขับทำความเร็ว 160 กม./ชั่วโมง เพื่อเปิดทางให้รถตำรวจทางหลวงและขบวนรถกู้ชีพปฏิบัติภารกิจนำหนูน้อยเข้ารับการผ่าตัดหัวใจให้ทันเวลา และมีรถตำรวจทางหลวงนำขบวนแข่งกับเวลาที่ต้องไปถึงโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อเข้ารับการผ่าตัดก่อน 14.00 น.
ผอ.รพ.หนองคาย เผยสาเหตุส่งตัวเด็กลาวผ่าตัดด่วน
นพ.สมศักดิ์ ประฎิภาณวัตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย เปิดเผยว่า เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างเอกอัครราชทูตไทย ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาฯ คณะแพทย์จุฬาลงกรณ์ มูลนิธิเพื่อการสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก กระทรวงสาธารณสุข สปป ลาว โรงหมอมะโหสถ นครหลวงเวียงจันทน์
โดยทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจแต่กำเนิดใน สปป ลาว ให้ได้รับการผ่าตัดรักษาในประเทศไทย เคสแรกทางโรงพยาบาลหนองคาย เป็นผู้นำส่งผู้ป่วย ได้รับการผ่าตัดไปแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 66 ขณะนี้อาการปกติ กลับไปใช้ชีวิตที่ สปป ลาวได้แล้ว เคสที่เดินทางวันนี้เป็นเคสที่ 2 เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว แพทย์จุฬาฯ ประเมินแล้วว่าปลอดภัยก็จะมาพักฟื้นที่โรงพยาบาลหนองคายต่อ จนผู้ป่วยอาการปกติก็จะส่งตัวกลับ สปป ลาว
เคสที่ 2 เด็กชายอายุ 10 เดือน เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด มีภาวะเขียวแต่กำเนิด เมื่อร้องจะตัวเขียว มีความผิดปกติของเส้นเลือด มีภาวะเส้นเลือดผิดปกติ ถ้าร้องเมื่อไรก็จะเขียว ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดส่วนใหญ่จะเสียชีวิต จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตั้งแต่เด็ก ครอบครัวผู้ป่วยไม่มีค่าใช้จ่าย (และมีเคสที่ 3 เป็นหญิง อายุ 1 ขวบ เป็นลักษณะเหมือนกับเคสที่ 2 หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด โรงพยาบาลจุฬาฯ จะประเมินผู้ป่วยอีกทีว่าจะผ่าตัดแบบใด เพื่อให้เด็กปลอดภัยที่สุด และจะได้นัดคิวส่งต่อไปรักษา)
โรงพยาบาลหนองคาย เป็นที่รับส่งต่อ แต่เนื่องจากไม่มีหมอหัวใจเด็ก จึงทำการคัดกรองร่วมกับทีมจุฬาที่นครหลวงเวียงจันทน์ แล้วทำรายชื่อผู้ป่วยที่พิจารณาเข้ารับการรักษาเข้าคิวรอการผ่าตัด ประเมินว่าจะสามารถเดินทางด้วยรถยนต์เข้ารับการผ่าตัดได้เมื่อไร เพื่อให้การเดินทางปลอดภัยและรวดเร็วที่สุด ตอนนี้มีรายชื่อทั้งหมด 37 คนเข้าคิวไว้แล้ว 3 คน เด็กกลุ่มนี้มีความเขียวพิการแต่กำเนิด การเดินทางที่ใช้เวลานานจะมีปัญหาอุปสรรค กลุ่มนี้อยากให้เดินทางไปถึงเร็วที่สุด ซึ่งไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ เพราะบางทีถ้าขึ้นเครื่องบินแล้วมีความกดอากาศ ถ้าเด็กร้องก็จะเขียวมาก หากเขียวบนเครื่องจะไม่ปลอดภัยกับเด็ก
พร้อมขอบคุณตำรวจทางหลวง ตำรวจจราจร ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนที่เอื้ออำนวยให้รถรีเฟอร์เดินทางได้อย่างรวดเร็ว เด็กปลอดภัย ทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาชีวิตเด็ก คาดว่าเด็กที่ตรวจอาการแล้วทั้ง 37 คน จะได้รับการเข้าคิวผ่าตัดแล้วเสร็จภายในปี 2567 เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วเด็กจะได้รับการติดตามอาการจากโรงหมอมะโหสถของลาว หากมีอาการผิดปกติก็จะมีการหารือกับโรงพยาบาลหนองคาย พิจารณาเป็นรายๆ ไป .-สำนักข่าวไทย