ศูนย์วัฒนธรรมฯ 4 ก.ค.-วธ.จัดการแสดงดนตรีไทยโดยครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(ปลัด วธ.) ร่วมด้วย ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และนายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ผู้แทนครูดนตรีไทยอาวุโส ร่วมแถลงข่าวการจัดแสดงดนตรีไทยโดยครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์ ประจำปี 2562
ปลัด วธ.กล่าวว่า การแสดงดนตรีไทยโดยครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย และ “วิศิษฏศิลปิน” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน จัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้นับเป็นครั้งที่ 11 แล้ว ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงเป็นศิลปินผู้มีอัจฉริยภาพหลายสาขา เป็นที่ประจักษ์ชัดในวงการศิลปะ โดยเฉพาะด้านดนตรีไทย อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
‘ปีนี้ วธ.โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้กำหนดจัดการแสดงดนตรีไทยโดยครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์ขึ้น ในวันจันทร์ที่ 15 ก.ค. เวลา 18.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์ ทั้งชายและหญิง และรวมถึงลูกศิษย์และลูกหลานครูอาวุโส ร่วมขับร้องและบรรเลงบทเพลงอันไพเราะกันอย่างสุดฝีมือ และในการแสดงชุดสุดท้าย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงขับร้องและทรงระนาดเอก เพลงอาถรรพ์ (เถา) ร่วมกับวงดนตรีบ้านปลายเนิน’ ปลัด วธ. กล่าว
ด้านผู้แทนครูดนตรีไทยอาวุโส กล่าวว่า การแสดงดนตรีไทยฯ ในปีนี้ได้รับเกียรติจากครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์ ทั้งชาย-หญิง รวม 38 คน รวมถึงลูกศิษย์และลูกหลานครูอาวุโสร่วมขับร้องและบรรเลงดนตรีไทยอย่างสุดฝีมือ ประกอบด้วยการแสดง 6 ชุด ได้แก่ รำถวายพระพร โดย ครูนาฏศิลป์อาวุโส , การบรรเลงดนตรีไทย วงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย (เครื่องใหญ่พิเศษ) บทอาศิรวาท เพลงพม่าเห่ , การบรรเลงดนตรีไทย วงปี่พาทย์ไม้แข็ง เพลงโหมโรงเทิด ส.ธ. โดยครูอาวุโสชาย ,การบรรเลงดนตรีไทย วงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย (เครื่องคู่) เพลงสมิงทอง เพลงจำปานารี บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ต่อด้วย การบรรเลงดนตรีวงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย เพลงไทยดำเนินดอย บทพระราชนิพนธ์ฯ โดยครูดนตรีอาวุโสหญิงและชาย และการบรรเลงดนตรี วงปี่พาทย์ไม้นวมผสมวงแซมเบอร์มิวสิก (Chamber Music) เพลงส้มตำ บทพระราชนิพนธ์ฯ แสดงโดยวงลูกศิษย์ครูอาวุโสดนตรีไทย และปิดท้ายด้วยการแสดงชุดพิเศษ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ ทรงขับร้องและทรงระนาดเอก เพลงอาถรรพ์ (เถา) ร่วมกับวงดนตรีบ้านปลายเนิน.-สำนักข่าวไทย