จุฬาฯ3ก.ค.-ในเวทีเสวนา นักวิชาการย้ำไทยเผชิญความเกลียดชัง วาทกรรมความขัดแย้งเกิดจากความยั่วยุเหมารวม พบมากหลังเลือกตั้ง ด้านสื่อมีบทบาทเลือกพูดความจริงหรือฆ่าความจริง ขณะที่องค์กรสิทธิเผย ตั้งเเต่ปี 61 นักกิจกรรมโดนทำร้ายกว่า 15 ครั้ง ล่าสุดกรณี ‘จ่านิว’ ย้ำอยากเห็นการเคารพสิทธิการ เเสดงออกซึ่งกันเเละกัน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีจุฬาฯเสวนา ครั้งที่21เรื่อง “ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย”เพื่อเผยเเพร่ความรู้จากนักวิชาการเเละผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์ถึงปัญหา สาเหตุเเะลผลกระทบจากการเมืองในปัจจุบันที่มีการเเบ่งขั้น จนทำให้เกิดความรุนแรงการคุกคาม ทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมือง การตรวจสอบนักการเมืองฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาล ตลอดจนการใช้คำพูดในลักษณะ Hate Speech โดยมองข้ามการเคารพสิทธิเเละเสรีภาพในการเเสดงความเห็น เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
นางพิรงรอง รามสูต รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลวาทะกรรมที่สร้างความเกลียดชัง(Hate Speech)ในสังคมไทยพบว่า มี 4 ระดับ ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยเมื่อปี 2553 พบว่าวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังอยู่ที่ระดับ 3 คือมีการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นยุยงให้กระทำความรุนแรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2562 ล่าสุดนี้จะอยู่ในระดับใดก็ไม่สามารถบอกได้ ซึ่งไม่ใช่แค่การสบถ แต่เป็นการยั่วยุ เหมารวม โดยพบมากช่วงหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีการผูกโยงกับข่าวลวง ข่าวเท็จ พยายามให้เกิดผลกระทบกับมติมหาชนทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น อีกวิธีการที่พบคือมีการสร้างเฮชสปีดในกลุ่มคนที่มีความเห็น ความเชื่อเหมือนกันเพื่อให้เกิดการตอกย้ำความเชื่อนั้นๆ
นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คนเราเห็นบางอย่างก็จะตัดสินใจได้เลยว่าชอบหรือไม่ชอบ เหตุผลที่ทำให้กลุ่มเกลียดชังยังทำงานได้ ไม่เกี่ยวกับการศึกษาหรือเรื่องเหตุผลใดๆ ปัจจัยที่ทำให้มีการสุดโต่งเกิดขึ้นคือ เกิดจากปัจจัยในครอบครัวหรือการรับรู้ซ้ำๆที่ทำให้ความเกลียดชังเติบโตขึ้น ไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ความเกลียดชัง เวลาเห็นเหตุการณ์ อย่างกรณีการทำร้ายจ่านิว คนในสังคมเห็นอะไร มุมนึงมองแอนตี้ ฮีโร่ รับเงิน สำหรับตนเห็นว่า เป็นเด็กคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในห้องเรียนในคณะรัฐศาสตร์ สุภาพอ่อนโยน ตนเห็นการทำร้ายเป็นความป่าเถื่อน เห็นความจริง เห็นนักกิจกรรมที่เเสดงความเห็นถูกทำร้าย เเต่ปัจจุบันคนในสังคมมีการมองเรื่องที่เกิดขึ้นในมิติเดียว ความขัดเเย้งในสังคมไทยเป็นความขัดเเย้งยืดเยื้อ ในบริบทความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน ทำให้คนออกจากกับดักนี้ไม่ได้ ทำให้เกิดความทุกข์ระบายด้วยการด่าด้วยคำหยาบคาย โดยเฉพาะในออนไลน์ที่มีการเเสดงตัวตนได้ง่าย ความเกลียดมีคุณสมบัติพิเศษที่ส่งต่อผ่านกันได้ เเพร่ต่อๆ กันได้เรื่อยๆ ทำให้สายสัมพันธ์ในสังคมกร่อนไปได้ทุกที หากทุกคนมองเป็นปัญหาเป็นยาพิษ ก็ควรช่วยกันแก้เเละศึกษาการหยุดเเพร่ระบาดความเกลียดนี้กันได้อย่างไร
นางฉันทนา บรรพสิริโชติ หวันแก้ว กรรมการก่อตั้งศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วง10 ปีที่ผ่านมา พบมีเเบบเเผนความรุนเเรง การขัดแย้ง เริ่มจากการโต้เถียง การทำร้ายร่างกายคนที่เห็นต่าง รวมไปจนถึงบางประเทศมีบัตรอนุญาตให้ทำร้ายร่างกาย ซึ่งถือเป็นการไม่เคารพสิ่งที่เห็นต่าง มองว่าในทุกความขัดเเย้ง มีกระบวนการแก้ไขใน 4 ประเด็น คือต้องไม่ใช้ความรุนแรง สร้างความไว้วางใจ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เอาคนผิดเข้าสู่กระบวนการเเละความอดทน ความขัดเเย้งหรือความเกลียดชังในปัจจุบัน อาจมาจาก มายาคติจินตนาการ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นหลากหลายในสังคม ดังนั้นความอดทนเป็นปัจจัยลดความขัดเเย้งที่น่าสนใจเพราะยิ่งในสังคมที่มีความหลาก หลายมาก หากเริ่มไม่อดทนกับความเห็นต่าง ก็อาจจะเกิดความขัดเเย้งได้ง่าย
ขณะที่นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพาและอดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV กล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤตไม่ว่าทางสังคม เศรษฐกิจหรือการเมือง สื่อมีทางเลือก 2 อย่างคือฆ่าความจริงหรือพูดความจริง ความขัดเเย้งที่เกิดขึ้น วิกฤตการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งสื่อบางกลุ่มก็จะนำเสนอความจริง บางสื่อไม่พูดถึงเลือกเเต่งเรื่อง เพราะคนไทยชอบดราม่าเเละคนไทยถูกสอนมาตั้งเเต่เด็กว่าให้เชื่อเเละฟัง ฟังเเล้วต้องเชื่อ ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตกลายเป็นดราม่าที่จบไป เเต่ไม่เกิดการตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เเละอีกปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือถึงไม่ฟังก็ตัดสินใจเชื่อเเล้ว ดังนั้นสื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น วิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่มีอำนาจเเละปกป้องคนที่อ่อนเเอกว่าเเละกลั่นกรองก่อนให้ข้อมูล เเต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเเต่ละสื่อที่ออกไปมีวาระซ่อนเร้น มีผลประโยชน์เข้ามาครอบงำ
ขณะเดียวกันก็มีสื่อที่มีจรรยาบรรณเช่นกัน เเต่สิ่งหนึ่งที่ตนยืนยันคือความน่าเชื่อถือของสื่อจะเป็นตัวคุ้มกันสื่อเอง เเละจะทุเลาความรุนเเรงในสังคมได้ มีพื้นที่ให้คนที่เป็นกลางได้เเสดงความเห็น ไม่ใช่ให้ใครครอบงำสื่อ อย่างกรณีจ่านิว ตนมองมีข้อดีเกิดขึ้น มีคนในสังคมที่ไม่เลือกข้างได้เเสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง มองถึงปัญหาการก้าวล่วงสิทธิมนุษยชนมากกว่าเรื่องทางการเมือง
ส่วนนางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า เเอมเนสตี้อยากเห็นการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกัน เเละกันของคนในสังคม เเละอยากให้รัฐเห็นความสำคัญเพื่อให้เกิดการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากรัฐ เเต่สิ่งที่เกิดขึ้น เพียงครึ่งปีเเรกนี้ มีการทำร้ายร่างกายเเละข่มขู่นักกิจกรรม นักสิทธิมนุษยชนถึง 9 ครั้ง ส่งผลต่อความรุนแรงทั้งทางร่างกาย จิตใจ ถูกข่มขู่ รุมด่า ไซเบอร์บูลลิ่ง อย่างเเอมเนสตี้เอง มีกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิ ยังถูกเฮชสปีชเยอะ ทั้งด่าทอ ข่มขู่ วางพวงหรีด ใครที่ออกมาพูดแทนแอมเนสตี้ก็จะโดนคล้ายกัน จากการตั้งข้อสังเกตเพราะทุกคนโกรธหวาดกลัว แล้วคิดว่าเราไปช่วยโจรหรือไม่ แม้จะอธิบายแต่ก็ไม่มีใครฟังจนมีการสร้างเพจต่างๆ ล้อเลียน นำสู่ความวิตกกังวล เพราะกลายเป็นการเข้าใจผิดและชี้นำให้เกิดความรุนแรง หากเป็นหญิงที่ออกมาเคลื่อนไหวจะถูกโจมตีหนักถึงเรื่องเพศด้วย
สำหรับความรุนแรงทางการเมือง เฉพาะปี 2561 ถึงตอนนี้พบมีการทำความรุนแรงทางร่างกายแล้ว 15 ครั้ง ล่าสุดที่เกิดกับจ่านิวที่โดนความรุนแรงทางกายภาพไม่พอ ยังโดนความรุนแรงรอบสองจากวาทกรรมทางออนไลน์ รวมถึงนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็โดนด้วย แต่จะเห็นว่าแม้คนเหล่านี้ถูกกระทำกี่ครั้ง ก็ยังยืนยันในจุดยืน แต่พื้นที่ในการแสดงออกเริ่มถูกกบีบให้ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งหากถูกบีบไปเรื่อยๆ แล้วความหวังที่จะลดความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้จริงๆ หรือไม่
ทั้งนี้ ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่อยากเห็นในฐานะองค์กร คืออยากเห็นเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเห็นต่างกันก็ตาม หากเราเคารพสิทธิคนอื่น ก็จะมองเห็นคนอื่นเป็นมากขึ้น อย่างกรณีจ่านิว แม้จะไม่เห็นด้วยอย่างไร แต่ก็ไม่ควรถูกทำร้ายร่างกาย และหากจับคนผิดไม่ได้ วันหนึ่งเหตุการณ์แบบนี้อาจจะเกิดกับเราคนใดคนหนึ่งได้.-สำนักข่าวไทย