กรุงเทพฯ 2 พ.ค. – สภาผู้ส่งออกทางเรือฯ ยันส่งออกปีนี้โอกาสติดลบร้อยละ 1 จากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ( สรท.) เปิดเผยว่า จากที่ได้ติดตามสถานการณ์ภาคการส่งออกของไทยปีนี้ แม้ว่าช่วงนี้จะมีข่าวดีว่าปัญหาสงครามการค้าสหรัฐกับจีน โดยสหรัฐผ่อนปรนและอาจจะไม่ใช้มาตรการภาษีตอบโต้กับจีนอีก ทำให้หลายประเทศผ่อนคลายความกังวลลงไปได้บ้าง แต่โดยรวมยังมีอีกหลายปัจจัยที่กระทบต่อภาคการส่งออกไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันและความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ สรท.มองว่าโอกาสที่ตัวเลขการส่งออกปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 1-3 แต่จากดูตัวเลขการส่งออกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายตัวติดลบ ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่าตัวเลขการส่งออกของไทยปีนี้น่าจะติดลบร้อยละ 1 ค่อนข้างสูงมาก จากหลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ สิ่งที่ สรท.ยังคงกังวลอย่างมาก คือ แม้สงครามการค้าสหรัฐกับจีนจะไม่รุนแรงไปมากกว่านี้ แต่ก็ต้องติดตามว่าจะมีมาตรการตอบโต้อะไรออกมาอีกหรือไม่ รวมทั้งความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ทาง สรท.ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประทศไทย (ธปท.) หรือกระทรวงการคลัง แต่หน่วยงานเหล่านี้ยังไม่สามารถที่จะดูแลปัญหาค่าเงินบาทได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากจะต้องรอแนวทางของรัฐบาลชุดใหม่ก่อนว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าหลังเลือกตั้งจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งภาคเอกชนต่างรอความชัดเจนเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้รัฐบาลใหม่เข้ามากำหนดแนวทางการบริหารและจัดการให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ โดยการใช้มาตรการปกป้องค่าเงินบาทของ ธปท. เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่ผิดปกติ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีต้องบริหารจัดการค่าเงินไม่ให้มีความผันผวนขึ้นลงมากเกินไปจนกระทบต้นทุนการส่งออก โดยพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินที่ ธปท.ออกมาตรการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจากการแข็งค่าของเงินบาท
นอกจากนี้ ขอให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมืองโดยเร็ว และขอให้รัฐบาลใหม่เร่งสนับสนุนภาคการค้าระหว่างประเทศด้านต่าง ๆ โดยเร็ว สนับสนุนการเจรจาความตกลงการค้า FTA มากที่สุด เช่น FTA ไทย-อียู ไทย-ปากีสถาน RCEP และ CPTPP เป็นต้น และการเปิดตลาดใหม่หรือตลาดทดแทน ไม่แน่นอนของสงครามทางการค้า ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบทางการค้าที่ยังคงเป็นอุปสรรค เพื่อช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูงจากปัจจัยภายในและภายนอก ส่งเสริมการพัฒนาปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับการค้าและการลงทุน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2562 มีมูลค่า 21,017.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 663,647 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าเดือนพฤษภาคม 2561 มีมูลค่า 20,836.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 666810.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนพฤษภาคม 2562 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 182 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุล 3,163 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขส่งออกเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2562 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 101,561 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 3,204,470 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 100,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 3,229,146 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2562 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 731 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุล 24,677 ล้านบาท .-สำนักข่าวไทย