กทม.2ก.ค.-ผลสำรวจสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ปี62 คนไทยส่วนใหญ่ มีคุณธรรมในระดับปานกลางและในอนาคตจะมีคุณธรรมลดลง จากปัจจัยสังคม ไม่มีวินัยคิดถึงประโยชน์ส่วนตัว ขาดความซื่อสัตย์สุจริต เตรียมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่ แก้ปัญหาและขับเคลื่อนสังคมคุณธรรม
ศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน รวม132 หน่วยงาน ร่วมจัดงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติครั้งที่10 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 2-3 ก.ค.ภายใต้แนวคิด “1ทศวรรษ สร้างสังคมคุณธรรม:วินัยคน สะท้อนวินัยชาติ “เพื่อเป็นเวทีกลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชื่อมโยงเครือข่ายและนำเสนอผลเชิงรูปธรรม ด้านการส่งเสริมคุณธรรมขององค์กรเครือข่ายทางสังคม รวมทั้งสร้างกระแสให้เกิดความตระหนักและตื่นตัวในการขับเคลื่อนคุณธรรม พอเพียง วินัยสุจริตจิตอาสาโดยเฉพาะ คุณธรรมด้านวินัย รวมทั้งเพื่อขับเคลื่อนการนำแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฉบับที1 พุทธศักราช 2559 ถึง 2564 และยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้องด้านคุณธรรม และทั้งรายงานผลการขับเคลื่อนตามประกาศเจตนารมณ์ ของภาคีเครือข่ายสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติครั้งที่ผ่านมาขยายผลสู่การปฏิบัติในระดับภูมิภาคและกำหนดแนวทางขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมในปีต่อไป
โดยมีการรายงานผลการศึกษาสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทยประจำปี 2562 ที่ดำเนินการสำรวจโดยศูนย์คุณธรรม กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสังคมไทยในปัจจุบันผู้คนมีคุณธรรมในระดับกลางมากที่สุดร้อยละ 52 และระดับน้อยสูงถึงร้อยละ 32.5 และคิดว่าในอนาคตสังคมไทยจะมีคุณธรรมลดลงสูงถึงร้อยละ 59.10 สาเหตุของการขาดคุณธรรมในสังคมไทยเกิดจากปัญหาการที่คนในสังคมไม่มีวินัยร้อยละ 59 รองลงมาคือการคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว ขาดความซื่อสัตย์สุจริต การไม่รู้จักพอเพียง การที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี คนส่วนใหญ่ขาดความรับผิดชอบขาดความสามัคคีก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม
และเห็นว่าการมีจิตสำนึกที่ดีและการมีวินัยเป็นประเด็นคุณธรรมที่รัฐบาลควรส่งเสริมให้กับประชาชนถึงร้อยละ 60 และ 57 และคนรุ่นใหม่ควรได้รับการปลูกฝังคุณธรรมสูงสุด 5 อันดับแรกคือความมีวินัย ความมีน้ำใจต่อกัน ความซื่อสัตย์สุจริตการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม การมีจิตสำนึกที่ดี
ส่วนประเด็นการเข้ามาของโซเชียลมีเดียก่อให้เกิดปัญหาสูงสุด 5อันดับแรกคือมีการใช้วาจาที่หยาบคายมากขึ้น เกิดการหลอกลวงซึ่งกันและกันมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างความคิดมากขึ้นความสัมพันธ์เสื่อมถอยลงและเกิดการเลียนแบบในทางที่ผิด ซึ่งประชาชนควรจะพัฒนาคุณธรรมเพื่อให้สามารถใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ในด้านการคิดไตร่ตรอง มีสติความรับผิดชอบ การมีวินัยในตนเองการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ความมีน้ำใจต่อกัน
ภายในงานยังมีการจัดตลาดนัดคุณธรรม ซึ่ง180 องค์กร ได้จัดนิทรรศการ นำองค์ความรู้นวัตกรรมด้านการส่งเสริมคุณธรรมและกรณีต้นแบบชุมชนคุณธรรมองค์กรคุณธรรม อำเภอคุณธรรมและจังหวัดส่งเสริมคุณธรรม เป็นต้น เพื่อเป็นต้นแบบส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความร่วมมือของเครือข่ายในการสร้างคุณธรรมที่เหมาะสมกับสังคมไทยตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมของชาติ
นอกจากนี้ยังจัดเวทีวิชาการเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นคุณธรรม นำเสนอบทเรียนความสำเร็จของชุมชนในการขับเคลื่อนคุณธรรมในกลุ่มเครือข่ายทุกเครือข่าย นำเสนอรายงานสถานการณ์คุณธรรมจริยธรรมของสังคมไทย และนำเสนอนวัตกรรมองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมคุณธรรมของหน่วยงานองค์กรเครือข่ายทางสังคมภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่างๆและหาทางการขับเคลื่อนคุณธรรมของแต่ละกลุ่มเครือข่ายในอนาคต
ขณะที่ในกลุ่มเครือข่ายสื่อมวลชนโดยศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ เสวนาในประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจในสังคมยุคปัจจุบัน เรื่องข่าวลวงปัญหาและความท้าทาย ซึ่งสะท้อนสถานการณ์ต่อพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งพบว่า การเกิดข่าวลวงเป็นปรากฏการณ์ของสังคมยุคดิจิทัลด้วยช่องทางการสื่อสารบนโลกออนไลน์ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและง่ายต่อการใช้งานจึงเกิดผู้ทำหน้าที่ส่งสารขึ้นเป็นจำนวนมาก บางข้อมูลขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกิดการเผยแพร่ข่าวลวง ข่าวปลอม ผลกระทบในทางลบให้กับคนในสังคมเป็นวงกว้าง โดยปัญหาข่าวลวงนั้น ไม่ได้จำกัดแค่ข่าวที่มีเนื้อหาผิด ๆ แต่ยังรวมถึงการเขียนข่าวที่ไร้คุณภาพการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองและรูปแบบโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ชวนให้เข้าใจผิด
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุว่าคนไทยร้อยละ 52 เชื่อข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับโปแลนด์ ซาอุดิ อาระเบียและอินเดีย ขณะที่สัดส่วนคนที่เชื่อข้อมูลจากโซเชียลมีเดียใน สหราชอาณาจักรและเยอรมนี มีเพียงร้อยละ12 และร้อยละ20 ตามลำดับ เช่นเดียวกับข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วงปี 2562 ได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากที่สุด ซึ่งพบในพื้นที่ออนไลน์และเกิดจากการมีสปอนเซอร์
ทั้งนี้ องค์กรภาคีเครือข่ายการจัดงานทั้งหมด จะร่วมกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนคุณธรรมของสังคมไทยและฉันทามติเป็นประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของหน่วยงานองค์กรภาคส่วนต่างๆพร้อมทั้งเสนอข้อเสนอทางนโยบายในการขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมในระยะต่อไปในรูปแบบสมัชชาคุณธรรมนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป.-สำนักข่าวไทย