19 มิ.ย.-มิเชล พลาตินี อดีตประธานยูฟ่า ถูกตำรวจเรียกสอบสวนเรื่องการมอบสิทธิ์เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2020 ให้กับกาตาร์
ปัญหาการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ของกาตาร์ยังไม่จบหลัง มิเชล พลาตินี อดีตประธานยูฟ่า ยืนยันไม่มีส่วนรู้เห็นใด ๆ เกี่ยวกับการโหวตลงคะแนนเลือกให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพ สมัยที่เซปป์ แบลตเตอร์ เป็นประธานฟีฟ่า
เราย้อนไปดูเหตุการณ์นี้ตั้งแต่เริ่มต้นในวันที่ 3 ธันวาคม 2553 สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ซึ่งขณะนั้นมีเซปป์ แบลตเตอร์ เป็นประธานฟีฟ่า และมิเชล พลาตินี เป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่าประกาศผลการเลือกเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ที่จะมีขึ้นในปี 2018 และ 2022 โดยงานจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของ ฟีฟ่า กรุง ซูริค ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ ผลปรากฏว่า รัสเซีย ปาดหน้าตัวเต็งอย่าง อังกฤษ, เบลเยียม-ฮอลแลนด์ และสเปน-โปรตุเกส คว้าเป็นเจ้าภาพในปี 2018
ส่วน กาตาร์ หนึ่งในตัวแทนของทวีปเอเชีย เบียดตัวเต็งอย่าง เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย รวมไปถึง สหรัฐอเมริกา ได้เป็นเจ้าภาพในปี 2022 พร้อมทำสถิติเป็นชาติแรก ที่ไม่เคยเข้าร่วมฟุตบอลโลก แม้แต่ครั้งเดียว แต่ได้จัดการแข่งขัน
จากนั้น แบลตเตอร์ ได้ถูกคณะกรรมการรักษาการของฟีฟ่าตั้งข้อหาถึงความไม่ชอบมาพากลจากกรณีที่ตัวเขาได้รับเงินจำนวน 1.34 ล้านปอนด์ โดยไม่มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่นเดียวกับมิเชล พลาตินี ที่ถูกสั่งแบนจากกรณีสงสัยรับเงินผิดกฎหมายจากบิ๊กบอสองค์กรลูกหนัง จำนวน 1.3 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 71.5 ล้านบาท เมื่อปี 2011
ต่อมาคณะกรรมการด้านจริยธรรมของฟีฟ่า สั่งลงโทษแบน เซปป์ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟ่า และมิเชล พลาตินี ประธานยูฟ่า ห้ามเกี่ยวข้องกับกิจกรรมฟุตบอลใด ๆ เป็นเวลา 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2558 กรณีที่ทั้งคู่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต
มิเชล พลาตินี ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ประธาน ยูฟ่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 หลังจากศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา (ซีเอเอส) ยืนยันคำตัดสินของคณะกรรมการด้านจริยธรรมของฟีฟ่า โดยลดโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมลูกหนังเหลือ 4 ปี จากเดิมที่ถูกโทษแบน 8 ปี ตั้งแต่ธันวาคม 2558 การตัดสินใจครั้งนั้นนำมาซึ่งข้อถกเถียงมากมาย ทั้งในเรื่องของสภาพอากาศ, ความพร้อม รวมถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของกาตาร์ แถมต่อมาในปี 2014 พลาตินียังยอมรับว่า เขาได้มีการหารือแบบลับ ๆ กับ โมฮัมเหม็ด บิน ฮัมมัม ประธานลูกหนังของกาตาร์ ที่โรงแรมในสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะมีการโหวตเลือกเจ้าภาพด้วย
และเมื่อวานนี้ พลาตินี ถูกตำรวจนำตัวไปสอบสวนหาความผิดกรณีรับสินบนเพื่อให้ประเทศกาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย หลังจากตำรวจปล่อยตัวพลาตินีเปิดเผยว่า เขาตั้งคำถามอย่างมากมาย แต่เขาก็ตอบทุกคำถามอย่างสงบนิ่ง มันก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างออกไปมากนัก นอกจากนี้ยังถามถึงเรื่องยูโร 2016, ฟุตบอลโลกที่รัสเซียและอื่นฯ แต่พลาตินี เลือกที่จะไม่ตอบคำถามเรื่องของฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ เป็นเจ้าภาพ
ขณะที่ วิลเลียม เบอร์ดอน ทนายของ พลาตินี ยืนยันว่า พลาตินี ไม่ได้ถูกจับกุม และเขาได้ตอบคำถามทุกคำถามอย่างละเอียด รวมถึงคำถามเกี่ยวกับการโหวตเลือกเจ้าภาพ ยูโร 2016 ด้วย ซึ่งเขาก็อธิบายทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ได้เป็นอย่างดี เขาไม่มีอะไรต้องกังวลกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเขาเลยแม้แต่น้อย และเขามีควารมมั่นใจอย่างเต็มที่กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป
“นโปเลียนลูกหนัง” ได้เป็นประธานยูฟ่า เมื่อปี 2007 ถึงปี 2015 หลังโดนตัดสินแบนจากฟุตบอลเป็นเวลา 4 ปี กรณีรับเงิน 2 ล้านสวิสฟรังค์ หรือราว 62 ล้านบาท จากเซปป์ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟ่าในเวลานั้น .-สำนักข่าวไทย