กรุงเทพฯ 19 มิ.ย. – “กฤษฎา” สยบม็อบชาวประมงทั่วประเทศ หลังประกาศเคลื่อนไหว 28 มิ.ย.นี้ นายกฯ สั่งแก้ทุกปัญหาให้จบใน 1 เดือนก่อนมีรัฐบาลใหม่ รับปากเยียวยาผลกระทบจาก IUU ร่วมสำรวจเรือประมงอีกกว่า 2,000 ลำ ต้องหยุดทำอาชีพ ด้านประธานสมาคมประมงร้องขอรัฐตั้งกองทุนบริหารประมงทั้งระบบ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ ประชุมร่วมกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทย สมาคมประมงพื้นบ้านและตัวแทนสมาคมประมงท้องถิ่น 22 จังหวัดชายทะเล โดยผู้แทนชาวประมงเรียกร้องให้ช่วยเหลือจากปัญหาและผลกระทบจากการออก พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีบทลงโทษรุนแรง ความซ้ำซ้อนการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 81 ระหว่างกรมเจ้าท่ากับกรมประมงเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านกว่า 30,000 ลำ รวมทั้งการกำหนดเขตทำประมงชายฝั่ง มาตรา 34 ในระยะ 5ไมล์ทะเลจากชายฝั่งที่ยังกำหนดไม่ครบทุกจังหวัด นอกจากนี้ ยังปัญหาการเปิดเขตการค้าอาเซียน มีการนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งบางประเทศนำสัตว์น้ำที่เป็นการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม และขาดการรายงาน (IUU) เมื่อนำเข้ามาแย่งตลาดในประเทศ ส่งผลให้ราคาสัตว์น้ำตกต่ำ โดยชาวประมงจะนัดรวมตัวเคลื่อนไหววันที่ 28 มิถุนายนี้ เพื่อรวบรวมปัญหาและเสนอทางออกต่อรัฐบาลใหม่
นายกฤษฎา กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เร่งแก้ความเดือดร้อนชาวประมงทุกกลุ่ม จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงให้เวลา 30 วัน ตรวจสอบด่านประมงทุกด่านตลอดแนวชายแดนที่อาจมีความย่อหย่อนหากพบผิดจะลงโทษทางวินัยทันที เพราะทำให้มีการนำเข้าสินค้าประมงตีตลาดในประเทศจากเปิดการค้าเสรีอาเซียน (FTA) แต่การนำเข้าทุกชนิดต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า จับสัตว์น้ำมาจากแหล่งทำประมงถูกต้อง อีกทั้งต้องไม่เป็นประมง IUU จึงสั่งการด่านประมงเพิ่มความเข้มงวดอย่างชัดเจน ไม่ปล่อยปละละเลยให้มีการเรือประมงสัญชาติอื่นลักลอบทำประมงในน่านน้ำไทย อีกทั้งการนำสินค้าสัตว์น้ำเข้าต้องมีระบบการตรวจสุขอนามัยให้เป็นไปตามกฎหมายประมงใหม่ ถ้าเจ้าหน้าที่หย่อนยานจะลงโทษอย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ ปัญหาเรือจอดอยู่ต้องเปิดสัญญาณอุปกรณ์ติดตามเรือ (VMS) ทำให้ชาวประมงมีค่าใช้จ่ายเดือนละเกือบ 50,000 บาท ได้ให้ผ่อนผัน โดยต้องแจ้งที่จอดชัดเจน เช่น กรณีเรือขึ้นคานพื่อนำไปซ่อม ไม่ได้ออกทะเลเพื่อจับสัตว์น้ำนั้น ได้แต่งตั้คณะทำงานปรับแก้กฎหมายด้วยให้มีความเหมาะสม ไม่ให้ชาวประมงเดือดร้อนเกินควร
“นายกรัฐมนตรีให้เวลา 1 เดือน เพื่อแก้ให้ได้ หลังจากประเทศไทยได้ใบเขียว IUU ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูกฎหมายให้อดีตอธิบดีกรมประมงเป็นประธาน เพื่อทบทวน พ.ร.ก. ประมง พ.ศ. 2558 ว่ามีมาตราไหนที่พี่น้องชาวประมงได้รับผลกระทบ พบว่ามี 16 มาตรา บางมาตรการแก้ด้วยการออกกฎหมายลูก ออกประกาศกฎกระทรวง กำลังดำเนินการ 7 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา ขอให้กรมประมงเร่งดำเนินการและต้องรายงานความคืบหน้าให้ชาวประมงและสังคมรับรู้ทุก 7 วัน” นายกฤษฎา กล่าว
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับข้อขัดข้องจากชาวประมงทั้งหมดมาให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยมีตัวแทนทุกสมาคมประมงเข้าร่วมประชุมวันที่ 21 มิถุนายน ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ประมงไทยก่อนปี 2558 มีปัญหามากมายทั้งเรือจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้รับร้องเรียนมาตลอดจากชาวประมง และไตก่งเรือ โดนเรียกเงินทองไม่หากจ่ายก็ล่าช้า ทั้งแรงงานต่างด้าว ไม่มีบัตรเอาแรงงานลงเรือ ต้องจ่ายค่านายหน้า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามารับผิดชอบได้นำเรื่องเหล่านี้มาแก้ไขจัดระเบียบกองเรือ ทำทะเบียนเรือ ออกกฎหมายใช้เครื่องมือประมงไม่ทำลายทรัพยากรและต้องปลอดการค้ามนุษย์
สำหรับการจัดระเบียบประมงชายฝั่ง ประมงพาณิชย์ ประมงนอกชายฝั่ง ขณะนี้บางจุดบางจังหวัดยังกำหนดแนวไม่เรียบร้อย โดยการประชุม ครม.ที่ผ่านมาได้แก้ไขแนวประมงชายฝั่งจังหวัดตราดแล้ว นายกฤษฎาย้ำว่าขอให้ข้าราชการทุกคนนึกถึงภาพทำงานแล้วมาเอาหัวใจของชาวประมงมาใส่จะทำให้แก้ไขได้ทุกเรื่อง ตอนนี้ได้จ่ายเยียวยาเรือประมงออกนอกระบบแล้ว 252 ลำ จ่ายเงินร้อยละ 30 และที่เหลือจ่ายหลังทำลายเรือเสร็จสิ้น โดยต้องผ่านการตรวจสอบว่าไม่เป็นเรือที่เคยทำผิดกฎหมายประมง กรมเจ้าท่า และแรงงาน นอกจากนี้ จะตั้งกรรมการตรวจสอบร่วมกับชาวประมงลงพื้นที่ไปสำรวจเรือที่มีการร้องจากองค์กรชาวประมงว่ามีเรือได้รับผลกระทบมากกว่านี้
ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทยร้องขอค่าเยียวยากว่า 2,000 ลำ ที่ต้องลอยลำออกทำประมงไม่ได้ โดยเป็นเรือประมงถูกยกเลิกทะเบียนเรือ มีเรือที่ตกสำรวจ และอีกกลุ่มเป็นเรืออวนรุนถูกกฎหมายได้ให้ยกเลิกภายใน 2 สัปดาห์ ให้เปลี่ยนเครื่องมือใหม่และชาวประมงขาดแคลนทุนทรัพย์ในการซื้อเครื่องมือ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการประมงเป็นเงินจากค่าธรรมเนียมส่งออก ค่าปรับต่าง ๆ เข้ากองทุนจะสามารถจัดการดูแลชาวประมงได้ทั้งระบบ ซึ่งการประชุมใหญ่วันที่ 28 มิถุนายนนี้ เพราะชาวประมง 22 จังหวัดชายทะเลจะรวบรวมปัญหาต่าง ๆ และเสนอแนวทางแก้ไขแก่รัฐบาลใหม่ เพราะกฎหมายประมงปี 2558 บทลงโทษรุนแรงเป็นอันดับ 1 ของโลก ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมาปรับให้เหมาะสม ชาวประมงสามารถการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย