กทม.19 มิ.ย.-กทม.โชว์ศักยภาพเรือดับเพลิงจากคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง 6,000 ล้านบาท หลังซ่อมแล้วศักยภาพใช้งานเกินร้อยละ 80
นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯกทม.) เป็นประธานพิธีสวนสนามทางเรือของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นครั้งแรกของ กทม.เพื่อแสดงศักยภาพของเรือดับเพลิง ที่ผ่านการซ่อมแซม ซึ่งทั้งหมดเป็นเรือดับเพลิงในคดีทุจริตการซื้อรถและเรือดับเพลิง มูลค่า 6,687 ล้านบาท
นายสกลธี กล่าวว่า ภายหลังมีคำตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหารถ เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ให้ กทม.ดำเนินการเคลื่อนย้าย ซ่อมแซมรถ และเรือ รวมถึงอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยให้ใช้งานโดยเร็ว โดยเฉพาะเรือดับเพลิงเพื่อภารกิจทางน้ำ โดย กทม.เริ่มซ่อมแซมเรือดังเพลิงแล้วเสร็จ และพร้อมใช้งานแล้วจำนวน 10 ลำจากทั้งหมด 30 ลำ เป็นเรือขนาด 38 ฟุต ทำความเร็วสูงสุดได้ 30 น็อตโดยใช้งบประมาณซ่อมแซมลำละประมาณ 800,000 บาท ซ่อมแซมเสร็จและเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยจะนำไปประจำที่สถานีดับเพลิงทางน้ำของ กทม.ที่มีอยู่ 2 สถานี คือ สถานีดับเพลิงสามเสน และสถานีดับเพลิงบวรมงคล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพช่วยเหลือเหตุอุบัติภัย และอัคคีภัยใกล้แม่น้ำในพื้นที่ กทม.
รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นซ่อมแซมไปจำนวน10 ลำ ส่วนที่เหลืออีก 20 ลำ ขณะนี้ต้องรอดูความจำเป็นและเหมาะสม รวมถึงว่ามีสถานที่จอดเพียงพอหรือไม่ ส่วนรถดับเพลิงในคดีตอนนี้ซ่อมแซมและนำมากระจายใช้ประจำการในสถานีดับเพลิงของ กทม.ทั้ง 50 เขต รวมแล้ว 176 คัน ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว
ด้าน พ.ต.ท.สมเกียรติ นนทแก้ว ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.)กล่าาว่า สำหรับเรือดับเพลิงที่นำมาซ่อมและใช้งานขณะนี้ สปภ.ได้เปลี่ยนอะไหล่บางส่วนที่หมดอายุส่วนใหญ่เป็นยางทั้งหมดแล้ว ส่วนเครื่องยนต์หรือปั๊มน้ำภายในเรือแทบไม่ได้มีการใช้งานสภาพจึงดีมาก เมื่อนำมาใช้พบว่า ประสิทธิภาพ อยู่ที่ร้อยละ 80-90 ถือว่าคุ้มค่ามากกับค่าซ่อมเฉลี่ยลำละ 800,000-900,00 บาทหากเทียบกับการซื้อของใหม่ที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ลำละ 20 ล้านบาท
เช่นเดียวกันกับรถดับเพลิงที่นำมาซ่อมและใช้งานจริง 176 คัน ค่าซ่อมเฉลี่ยเปลี่ยนอะไหล่ที่หมดอายุอยู่ที่คันละ 1,000,000 บาท ประสิทธิภาพอยู่ที่ร้อยละ 80-90 เช่นเดียวกัน หากซื้อใหม่งบประมาณจะอยู่ที่คันละไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ตอนนี้ทั้งหมดได้นำไปกระจายอยู่ตามสถานีต่างๆทั่ว กทม.สถานีละ 2 คัน
ส่วนรถดับเพลิงในคดีที่เหลืออืก 136 คัน ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนฟ้องร้องเรียกค่าจอดเก็บรถ โดยบริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้อง กทม.ในคดีแพ่ง ขอให้ กทม.ชำระเงินค่าภาระยกขนสินค้าขาเข้า ยกขนสินค้าเพิ่มเติมและค่าภาระฝากสินค้า เป็นค่าเก็บรักษาสินค้า ที่ไม่ได้นำออกนอกเขตศุลกากร รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,040.81ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 972.72 ล้านบาท นับจากวันฟ้องจนกว่าการชำระหนี้จะแล้วเสร็จ พร้อมชำระค่าฝากรถวันละ 272,817บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะนำรถดับเพลิงทั้งหมดออกจากท่าเรือ ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย
ส่วนคำถามว่าอยากนำออกมาใช้หรือไม่ พ.ต.ท.สมเกียรติ ระบุว่า จากการลงไปสำรวจรถร่วมกับทีมช่างพบว่าสภาพรถยังดีมาก เครื่องยนต์ อุปกรณ์ปั๊มน้ำ เพียงแค่อยู่ในสภาพเก่าเก็บ นำออกมาเปลี่ยนอุปกรณ์บางอย่างก็จะใช้งานได้เช่นเดียวกับล็อตแรกที่นำออกมา ซึ่งหากจะตั้งงาประมาณเพื่อไปซื้อใหม่อีกกว่า 100 คัน กทม.คงไม่มีงบประมาณมากขนาดนั้น ส่วนตัวหวังว่าคดีความจะจบสิ้นโดยเร็ว เพื่อจะได้นำรถออกมาใช้งาน ให้เกิดประโยชน์กับคนกรุงมากที่สุด.-สำนักข่าวไทย