กรุงเทพฯ 18 มิ.ย.-กรมรางฯ เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมและคลัง นำภาษีลาภลอย ตั้งกองทุนชดเชยแก้ปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพง เสนอรัฐบาลใหม่เร็วๆ นี้
หลังจากที่เรานำเสนอ เรื่องปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงไปแล้วเมื่อวานนี้ วันนี้แนวทางที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง เริ่มมีความชัดเจน ล่าสุด อธิบดีกรมการขนส่งทางราง แย้มแนวทางแก้ปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพง เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม จับมือกระทรวงคลัง นำภาษีลาภลอย จัดตั้งกองทุนชดเชยค่าโดยสาร โดยจะเสนอรัฐบาลใหม่เห็นชอบเร็วๆ นี้
วันนี้คุณสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวถึง กรณีที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยแพง เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ที่มีระบบรถไฟฟ้าให้บริการ และเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเข้มแข็ง แต่กลับมีค่าโดยสารถูกกว่าไทย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องดูข้อมูลให้รอบด้าน เบื้องต้นต้องยอมรับว่า ในหลายประเทศใช้แนวทางในการเก็บค่าโดยสารถูกกว่าต้นทุน โดยภาครัฐเข้าไปอุดหนุนเพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือรถไฟฟ้าให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีในการแก้ปัญหาจราจรติดขัด ลดการใช้พลังงานในรถยนต์ส่วนบุคคล และช่วยลดปัญหามลพิษ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรมการขนส่งทางรางนั้น ยอมรับว่ามีแนวทางการศึกษาที่จะพิจารณาทำให้ค่าโดยสารถูกลง 2 แนวทาง คือเรื่องของการใช้มาตรการภาษี ช่วยสนับสนุนให้ผู้ใช้ระบบรถไฟฟ้าได้ประโยชน์ทางอ้อม เช่น การลดภาษีบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่ส่งเสริมให้พนักงานมาใช้รถไฟฟ้า ส่วนแนวทางที่ 2 คือการตั้งกองทุนขึ้น และนำเงินกองทุนไปชดเชยค่าโดยสาร โดยภาครัฐดูแล ก็จะทำให้ค่าโดยสารถูกลง
โดยที่มาของเงินในกองทุน คุณสราวุธ ระบุว่า เช่น การนำเงินจากภาษีลาภลอย ที่กระทรวงการคลังศึกษาอยู่ โดยแนวทาง คือ กรณีที่ผู้ที่มีที่ดิน และมีโครงการรถไฟฟ้าตัดผ่าน ทำให้มูลค่าที่ดินสูงขึ้น หากมีการขายที่ดิน จากมูลค่าที่สูงขึ้นนี้ ก็จะมีการนำเงินภาษีที่เกิดจากการซื้อขายส่วนหนึ่งเข้ากองทุนฯ ก็จะช่วยให้กองทุนมีเงินเข้ามาหมุนเวียน
ทั้งนี้แนวทางในการแก้ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง หลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารงาน และมีแนวนโยบายชัดเจนเรื่องค่าโดยสาร ทางกรมการขนส่งทางราง จะมีการเสนอเรื่อง แนวทางการทำงาน โดยขอให้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารการขนส่งทางรางขึ้น เพื่อให้คณะกรรมการชุดนี้ ขับเคลื่อนการทำงานไปจนกว่าพระราชบัญญัติ ว่าด้วยอำนาจของกรมการขนส่งทางราง จะมีผ่านสภาฯ มีผลบังคับใช้ คาดว่าประมาณปลายปี 2562 ซึ่งหลังจากนั้น การทำงานจะมีคณะกรรมการที่มีลักษณะเป็น บอร์ด กำกับค่าโดยสาร มารับไม้ต่อ ประเด็นเรื่องผลักดันให้มีการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้านั้น ในส่วนของโครงการที่มีคู่สัมปทานกับภาครัฐอยู่เดิมจะไปดำเนินการให้ค่าโดยสารถูกลงนั้น จะต้องไปดูสัญญาว่า เปิดช่องใหม่ และจะใช้การเจรจาได้ไหม ส่วนรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะทยอยเปิดบริการในส่วนนี้ สามารถกำหนดเพดานของราคาสูงสุดไว้ แล้วนำเงินกองทุนฯ ที่กล่าวไปแล้ว มาชดเชยส่วนต่าง ตามแนวทางที่กล่าวไปแล้ว
สำหรับการลดราคาค่าโดยสาร ในส่วนของระบบรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม ซึ่งมีเอกชนเป็นคู่สัมปทาน วันนี้คุณชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่าจะให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือรฟม. ไปตรวจสอบสัญญาสัมปทาน ว่าจะสามารถเจรจาได้หรือไม่ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เป็นการจ้างเอกชนเดินรถ และมีการเสนอให้เก็บค่าโดยสาร 15 บาท ตลอดสาย ปลัดกระทรวงคมนาคมยอมรับว่าเป็นไปได้
ทั้งนี้กรมการขนส่งทางราง ยังได้จัดทำแผนที่ระบบรถไฟฟ้า ฉบับกรมการขนส่งทางรางขึ้น ถือเป็นฉบับใหม่ ที่รวมโครงข่ายระบบรางไว้ทั้งหมด มีระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร ครอบคลุมระบบรถไฟฟ้าในสังกัดกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม และของกรุงเทพมหานครอีก 3 เส้นทาง โดยกรมการขนส่งทางราง จะเผยแพร่ให้สาธารณะทราบ โครงข่ายและสถานีที่มีทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้ .-สำนักข่าวไทย