ตรัง 13 มิ.ย. – ในขณะที่การช่วยชีวิต “มาเรียม” ลูกพะยูนที่พลัดหลงกับแม่ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ชาวบ้านเกาะลิบง พื้นที่ที่พบพะยูนมากที่สุด จนถือว่าเป็นเมืองหลวงของพะยูน ได้เสนอให้ทุกภาคส่วนเร่งช่วยกันฟื้นฟูหญ้าทะเล เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พะยูนอย่างยั่งยืนด้วย
เราะติยะ วชิรโกศล ชาวบ้านดุหยง เกาะลิบง จ.ตรัง ร้องเพลงชมดุหยงและหญ้าทะเล ที่ตัวเธอแต่งขึ้นเอง เพื่อต้องการสื่อให้ผู้คนหันมาช่วยกันดูแลและอนุรักษ์ดุหยง หรือพะยูน รวมถึงแหล่งหญ้าทะเล อันเป็นอาหารสำคัญของพะยูน โดยหวังให้ปรากฏการณ์ “มาเรียม” เป็นสิ่งสะท้อนให้ผู้เกี่ยวข้องเล็งเห็นถึงสภาพปัญหาของหญ้าทะเลในเกาะลิบง ซึ่งเธอและประธานกลุ่มสตรีประมงพื้นบ้านเกาะลิบง บอกว่า กำลังลดน้อยลงจนเกือบเข้าขั้นวิกฤติ จากภัยคุกคามของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งจากการใช้อวนรุน อวนลาก การปล่อยน้ำเสียของชุมชน โรงงานน้ำยาง และการขุดลอกคูคลองในพื้นที่
เขตเซฟตี้โซนสำหรับ “มาเรียม” ถูกกำหนดขึ้นให้มีรัศมีห่างจากชายฝั่งบ้านดุหยง จุดอนุบาลมาเรียม ออกไปในทะเลราว 400 เมตร เพื่อความปลอดภัยจากการถูกใบพัดเรือประมงต่างถิ่นที่อาจเข้ามาจอดหากิน โดยการจำกัดพื้นที่ถูกกำหนดขึ้นจากลักษณะพฤติกรรมของ “มาเรียม” ที่มักจะเวียนว่ายอยู่ในบริเวณนี้ หลังเจ้าหน้าที่ป้อนนมและหญ้าทะเลให้เสร็จในแต่ละวัน เบื้องต้นคาดว่าทุ่นจะติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 1-2 วันนี้ หลังจากคลื่นลมสงบ
การจำกัดพื้นที่เซฟตี้โซน เพื่อความปลอดภัยให้กับ “มาเรียม” ทำให้ อิสมาแอน สารสิทธิ์ ชาวบ้านเกาะลิบง ที่ทำโครงการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเลมาอย่างยาวนาน เสนอแนวคิด “ลิบงโมเดล” เพื่อร่วมกันอนุรักษ์เพื่อนของ “มาเรียม” ตัวอื่นๆ ให้อยู่รอดด้วย โดยการขยายพื้นที่พะยูนโซนจากเดิม 30 ไร่ ให้มีอาณาบริเวณกว้างขึ้น ควบคู่กับการเร่งเพิ่มจำนวนหญ้าทะเล ซึ่งลดน้อยลงมาก จนสวนทางกับอัตราการเกิดของพะยูนที่พบว่ามีมากขึ้น เพื่อช่วยกันอนุรักษ์พะยูน สิ่งบ่งชี้ความสมบูรณ์ของท้องทะเลให้คงอยู่ในระยะยาว
ปรากฏการณ์ “มาเรียม” ลูกพะยูนที่พลัดหลงจากแม่ วัยเพียง 7 เดือน จนมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ให้นมแทนแม่ ไม่เพียงช่วยสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้พบเห็น แต่ยังช่วยจุดประกายความรู้สึก ความต้องการอนุรักษ์พะยูนตัวอื่นๆ ที่คาดว่ายังมีกว่า 200 ตัว ให้มีชีวิตรอดในสภาพท้องทะเลที่มีความสมบูรณ์. – สำนักข่าวไทย