ศิริราช 4 มิ.ย.- ศิริราชพัฒนาสเต็มเซลล์กระจกตา ช่วยให้ผู้ป่วยสตีเว่นจอห์นสันซินโดรม กระจกตาอักเสบ หรือดวงตาได้รับอันตรายจากสารเคมี กลับมามองเห็นอีกครั้ง โดยมีผู้ป่วยรับการผ่าตัดแล้ว 75 คน 86 ดวงตา
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช พร้อมด้วย พญ.งามแข เรืองวรเทย์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา และพญ.ภิญนิดา ตันธุวนิตย์ หัวหน้าสาขากระจกตา แถลงเรื่อง ศิริราชประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากการที่ทีมจักษุแพทย์ศิริราชประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ผิวกระจกตา ครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยวิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัสโดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยง SLET (Simple limbal epithelial transplan) ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการรักษาเพราะปัญหาเรื่องกระจกตาที่ขุ่นมัว มีผลกับคุณภาพชีวิตในการมองเห็น สเต็มเซลล์จะช่วยป้องกันให้กระจกตาสะอาดตลอดเวลา เมื่อรู้ว่าสเต็มเซลล์มีประโยชน์ในการช่วยกระจกตา จึงต้องมีการพัฒนาการรักษา เพื่อคืนคุณภาพชีวิตผู้ป่วย โดยขณะนี้สามารถให้การรักษาผู้ป่วยไปด้วยในการ ปลุูกถ่ายกระจกตาด้วยสเต็มเซลล์ไปแล้ว 75 คน 86 ดวงตา
พญ.ภิญนิดา กล่าวว่า สเต็มเซลล์ กระจกตาอยู่บริเวณขอบตาดำโดยรอบ ทำหน้าที่เป็นโรงงานสร้างเซลล์ผิวกระจกตา ป้องกันเส้นเลือดรุกล้ำเข้าไปในกระจกตา ไม่ให้ตาขุ่นมัว ตาได้รับอันตราย ทำให้ดวงตาใส ไม่เป็นแผล ซึ่งการรักษาด้วยสเต็มเซลล์นี้จะทำในคนไข้ตาพร่องสเต็มเซลล์หรือไม่สามารถเปลี่ยนกระจกตาได้ หรือป่วยเป็นโรคสตีเว่นจอห์นสันซินโดรมหรือดวงตาได้รับอันตรายจากสารเคมี การผ่าตัดใช้เวลา 3-5 ชั่วโมง และจากนั้นคนไข้ต้องพักฟื้นติดตามอาการอีก 1 เดือนในโรงพยาบาล โดยเทคนิคการผ่าตัดและปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ด้วยวิธีการนี้ ยังอยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัย และการปลูกผ่าถ่ายมีตั้งแต่การนำสเต็มเซลล์ในดวงตาของคนไข้ที่สามารถใช้งานได้ปกติ มาสับและเพาะในห้องปฏิบัติการ และปลูกถ่ายโดยไม่ต้องเพาะ รวมถึงการนำเซลล์ของญาติสายตรงของคนไข้มาเพาะ เพื่อให้เกิดสเต็มเซลล์ในปริมาณที่ต้องการมานำมาปลูกถ่าย รักษาช่วยให้คนไข้กลับมามองเห็น
นายประกอบ (คนไข้ที่ป่วยโรคสติเว่นจอห์นสันซินโดรม ) กล่าวว่า ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยวิธีการปลูกถ่านสเต็มเซลล์กระจกตา หลังจากมองไม่เห็นเพราะป่วยโรคสตีเว่นจอห์นสันซินโดรม มานานกว่า 22 ปี โดยผ่านการรักษามาแล้ว 3 โรงพยาบาล แต่ก็ยังไม่อาจมองเห็นได้ วันนี้หลังรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์กระจกตา ทำให้มีโอกาสมองเห็นอีกคั้งแม้จะไม่ชัดเหมือนในอดีต แต่ก็ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นกว่าเดิม.-สำนักข่าวไทย