กทม.31 พ.ค.-สปสช.ร่วม ธ.ก.ส.จัดโครงการ “รู้เท่าทันเท่ากับการป้องกันโรคไม่ติดต่อเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมจับมือ สวทช. พัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ติดตั้งที่ ธ.ก.ส. เริ่มเดือนก.ค.นี้ และกระจายไปยัง 10 จังหวัดๆ ละ10 เครื่อง ตั้งเป้าครบ100 เครื่อง ภายในปีนี้ หวังให้ประชาชนเข้าถึงเครื่องตรวจวัดสุขภาพ ง่ายขึ้น เกิดความตระหนัก รู้เท่าทันและป้องกันตนเองจากโรคไม่ติดต่อ ภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยสูงสุดทุกปี
วันนี้(31 พ.ค.)ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ การพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ “รู้เท่าทันเท่ากับการป้องกันโรคไม่ติดต่อ”เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นองค์รวมต้องดำเนินด้วยการอาศัยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ดังเช่นที่ สปสช. สวทช. และ ธ.ก.ส. ร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐนอกเหนือองค์กรสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของ สวทช. หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าสำคัญในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข ลดการนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศ ช่วยเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง บทบาทของ ธ.ก.ส. ในการสร้างความมั่นคงทางการเงินที่ใกล้ชิดประชาชนกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดที่ต้องมีสุขภาพดี และบทบาทของ สปสช. ในการสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานให้กับประชนชนคนไทย
‘ทั้ง 3 หน่วยงานล้วนแต่สร้างคุณูปการในการช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรงทั้งในตรวจการคัดกรอง ประเมินภาวะสุขภาพได้ด้วยตนเอง รู้และตระหนักเรื่องการป้องกันดูแลและสร้างเสริมสุขภาพตนเองให้สุขภาพดีอย่างสม่ำเสมอ ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว ชุมชน หรือหน่วยงานของรัฐ’ รมว.สาธารณสุข กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจาก สปสช. ได้ร่วมกับ ธ.ก.ส.เสนอโครงการเฉลิมพระเกียรติ “รู้เท่าทันเท่ากับการป้องกันโรคไม่ติดต่อ”เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันด้านสุขภาพและตระหนักเรื่องการป้องกันดูแลและสร้างเสริมสุขภาพตนเองให้สุขภาพดีและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม ตามยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (Promotion and Prevention : P&P) ของการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตยืนยาวขึ้น
ทั้งนี้ ในโครงการดังกล่าวฯ สปสช. และ ธ.ก.ส. ยังผนึกกำลังในการทำงานร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสามารถอันเหนือชั้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นและเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือทั้ง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ โดยเครื่องวัดดังกล่าว ประกอบด้วย การวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดดัชนีมวลกาย ซึ่งเมื่อตรวจวัดเสร็จแล้วผลของการวัดที่ได้จะถูกแปลค่าและให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวได้ อีกทั้งข้อมูลจะถูกถ่ายโอนเข้าสู่ Cloud ซึ่งเชื่อมโยงกับ Smart phone ของผู้วัด ซึ่งสามารถนำผลดังกล่าวในการเฝ้าระวังการป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง Non-communicable diseases หรือ NCDs ได้ หรือหากพบอาการผิดปกติก็สามารถนำข้อมูลไปปรึกษาแพทย์ได้
“จากข้อมูลในปี2558 มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ NCDs โดยเฉพาะ 4 กลุ่มโรคหลักประกอบด้วย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรค เบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ถึงร้อยละ 71.3 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายป้องกันโรคระดับปฐมภูมิ (primary prevention) ทั้ง 2 หน่วยงาน จึงได้ผนึกกำลังร่วมมือกับ สวทช. ให้มาช่วยพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น จำนวน 100 เครื่อง เพื่อนำไปติดตั้งยัง ธ.ก.ส. และสถานที่เป้าหมายในพื้นที่ทั่วประเทศ 10 จังหวัดๆ ละ 10 แห่ง โดยจะเริ่มส่งมอบเครื่องฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 อันเป็นเดือนแห่งการเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 66 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เลขาธิการ สปสช.กล่าว
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ สปสช.พร้อมสนับสนุนการพัฒนาเครื่องตรวจ วัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ โดย สปสช.จะจัดเตรียมข้อมูลเพื่อใช้สำหรับการดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพ และให้ข้อมูลการแปลผลพร้อมคำแนะนำในการดูแลสุขภาพของผู้ถูกวัดสุขภาพจากเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ และพร้อมเป็นผู้ให้ข้อมูลด้านสถานที่ติดตั้งแก่ ธ.ก.ส. เพื่อให้ประชาชนได้รับการคัดกรอง ประเมินภาวะสุขภาพได้ด้วยตนเอง ในกรณีประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง ได้รับการติดตามดูแลสุขภาพไม่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายใหม่สามารถดูแลสุขภาพกลับไปเป็นกลุ่มปกติได้ และในประชากรกลุ่มป่วยได้รับคำแนะนำให้เข้ารับบริการรักษาตามมาตรฐานต่อไป
นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. โดย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ มีทีมวิจัยที่พร้อมวิจัย พัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ซึ่งเครื่องฯ ดังกล่าว จะเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ (Cloud) สามารถกระจายข้อมูลไปยังเครื่องอื่นๆ ได้หลายเครื่องพร้อมกัน ทำให้สามารถประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ด้านสุขภาพและการป้องกันโรคให้ประชาชนรับทราบได้อย่างทันที
“จุดเด่นของเครื่อง คือ ข้อมูลที่วัดได้จะถูกส่งไปที่ระบบคลาวด์ (Cloud) ซึ่งจะเก็บข้อมูลของผู้ถูกวัดแต่ละคนไว้ สำหรับการติดตามความคืบหน้าระบบสุขภาพที่เป็นระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เช่น สปสช. อาจจะประกาศนโยบายให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี เมื่อประชาชนได้รับข้อมูลแล้ว ทาง สปสช. ก็จะสามารถติดตามได้ว่า หลังจากประกาศนโยบายไปแล้ว 1 ปี มีอัตราการป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรบ้าง โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถทำเป็นระบบเพื่อรายงานผลให้ผู้กำหนดนโยบาย นำไปกำหนดนโยบายสุขภาพที่เหมาะสมกับชุมชนแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
สำหรับเครื่องดังกล่าว ประกอบไปด้วย การวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดดัชนีมวลกาย โดยเมื่อตรวจวัดเสร็จ ผลของการวัดที่ได้จะถูกแปลค่าและประเมินระดับความเสี่ยงด้านสุขภาพ มีข้อมูลให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว รวมทั้งมีคำแนะนำให้พบแพทย์ตามสถานพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย อย่างไรก็ตามระบบระบบคลาวด์ (Cloud) จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือช่วยเสริมการจัดเก็บข้อมูลที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ได้ทำอยู่แล้วนั้นให้เป็นระบบมากขึ้น ทั้งนี้ในอนาคตทีมวิจัยจะพัฒนาต่อยอด ให้เครื่องมีฟังก์ชันเซ็นเซอร์เพิ่มเติม เช่น เซ็นเซอร์การตรวจวัดสารพิษในร่างกายให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าหลัก ของ ธ.ก.ส. ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อมูลสำคัญที่จะสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อการกำหนดนโยบายการป้องกันสุขภาพแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งเครื่องนี้จะเป็นการผลักดันให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอด นำไปสู่การใช้งาน และตอบโจทย์เทคโนโลยีที่จะช่วยในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นายกษาปณ์ เงินรวง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ พร้อมทั้งพื้นที่ของ ธ.ก.ส. เป็นสถานที่ติดตั้ง ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเครื่องวัดได้ด้วยตนเองและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์สำหรับให้การดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพของผู้ถูกวัดได้ด้วยตัวเอง ร่วมกับ สปสช. และ สวทช. เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันด้านสุขภาพและตระหนักเรื่องป้องกันดูแลและสร้างเสริมสุขภาพตนเองให้สุขภาพดีเบื้องต้น ให้กับลูกค้า ธ.ก.ส. ประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ ธ.ก.ส.ในการเพิ่มขีดความสามารถเกษตรกรไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรที่ดี รู้เท่าทันด้านสุขภาพและตระหนักเรื่องป้องกันดูแลและสร้างเสริมสุขภาพตนเองให้สุขภาพดี .-สำนักข่าวไทย