กรุงเทพฯ 23 พ.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์ลั่นจัดสรรนมโรงเรียนไม่มีรับเงินหัวคิวแม้แต่สลึงเดียว ขู่กลับผู้ประกอบการ หากจัดตั้งม็อบประท้วงเทนมทิ้ง โดนตัดสิทธิทันที ชี้ผิดคุณสมบัติเงื่อนไขได้โควตานมโรงเรียน ระบุชัดต้องรับผิดชอบรับซื้อนมดิบเกษตรกร 365 วัน
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เลขานุการคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มสหกรณ์โคนมขู่นำเกษตรกรมาประท้วงเทนมทิ้ง โดยอ้างว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม โควตาจำหน่ายนมโรงเรียนลดลง ส่งผลปริมาณน้ำนมดิบเหลือวันละ110ตันหรือเดือนละ 3,000 ตัน อีกทั้งชี้ว่า ระบบจัดสรรสิทธิใหม่เปิดกว้างมากเกินไปให้กระทรวงเกษตรฯ ทบทวน ซึ่งนายสัตวแพทย์สรวิศยืนยันว่าไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้รายใด ไม่รับเงินแม้แต่สลึงเดียวข้อครหาที่เคยมีในปีก่อนๆ ว่า การจัดสรรนมโรงเรียนมีการเรียกรับหัวคิวกล่องละ10-50 สตางค์ไม่มีแน่นอน ครั้งนี้ทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใสโดยเป็นไปตามแนวทางของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ปฏิรูปแนวทางบริหารจัดการโครงการนมโรงเรียนทั้งระบบ ซึ่งใช้งบ 14,000 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยต่อหัวเด็กนักเรียน 6 บาทต่อถุง (นมพาสเจอร์ไรส์และ 7 บาทต่อกล่อง (นมยูเอชที) ซึ่งเป็นไปตามการเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้แก้ปัญหาการทุจริต และมีผลประโยชน์ทับซ้อน จะเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนโครงการจำนำข้าวได้ถ้าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบละเลยไม่แก้ไข และจะต้องไม่มีผู้มีส่วนได้เสียนั่งเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการนมโรงเรียน โดยรมว.เกษตรฯทำแผนปฏิรูปเสนอครม.ผ่านมติตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เพื่อแยกการบริหารจัดการนมโรงเรียน ออกจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด)ทั้งนี้ระบบใหม่นี้กระจายการจัดโควตาไปยัง 5 กลุ่มภูมิภาคที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการอาหารนมฯในพื้นที่มีเกษตกรเลี้ยงโคนมจำนวนมาก แทนการพิจารณาในมิลค์บอร์ด ซึ่งมีผู้แทนเกษตรกรและผู้แทนผู้ประกอบการเป็นกรรมการอยู่ เป็นการกระจายอำนาจหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง ไม่ให้รวมอยู่ที่เดียว รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 กำหนดให้การค้าเป็นธรรมไม่ผูกขาด
นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวว่า คณะกรรมการอาหารนมฯ จัดสรรสิทธิโดยยึดประโยชน์เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ป้องกันไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อนจากนมดิบล้นและเด็กนักเรียนเป็นหลัก ซึ่งในภาคเรียนนี้มีผู้ประกอบการได้โควตา 65 ราย ทุกรายได้โควตาลดลงเพราะจำนวนเด็กนักเรียนน้อยลงกว่าปีที่แล้วถึง 46,000 คน ก่อนหน้านี้ได้ชี้แจงกับผู้ประกอบการ สหกรณ์โคนม ศูนย์รวบรวมนมดิบ และเกษตรกรให้เข้าใจตามประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ของคณะกรรมการอาหารนมฯอย่างชัดเจน โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดคุณสมบัติ 7ข้อของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจำหน่ายนมโรงเรียน คือ1. มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน2. มีใบอนุญาตผลิตอาหาร 3. มีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร หรือใบจดทะเบียนอาหาร 4.มีใบรับรอง GMP. จาก. อย. และมีผลผ่านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพนมโรงเรียนจากกระทรวงสาธารณสุข 5.ใช้น้ำนมโคจากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่ผ่าน. GMP. จากกรมปศุสัตว์. และน้ำนมโคต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานที่หลักเกณฑ์ฯ กำหนด 6. มีสัญญาซื้อขายระหว่างเกษตรกรกับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ. และสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการกับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ
และข้อ7.ต้องส่งแผนและคำรับรองในการบริหารจัดการน้ำนมโค. ที่มีแผนการตลาดรองรับปริมาณน้ำนมโคของศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบคู่สัญญาและของตนเอง. และรับผิดชอบน้ำนมโคของศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบคู่สัญญาตลอด 365 วัน โดยผู้ประกอบการทุกรายต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ได้รับโควตาไปแล้ว ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันอย่างเต็มที่ทำให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมถึงร้อยละ 95 ในวันเปิดภาคเรียน จนกระทั่งครบทั้งประเทศในวันนี้ (23 พฤษภาคม)โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีสหกรณ์โคนมและศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบน้อย ขณะนี้ได้รับนมแล้ว แม้โรงเรียนอยู่บนเกาะต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของนมโรงเรียน เมื่อเทียบกับหลายๆ ปีที่ผ่านมาซึ่งล่าช้าหลายสัปดาห์กว่านมจะไปถึงมือเด็กในพื้นที่ห่างไกล
นอกจากนี้ทั้งสหกรณ์โคนม ผู้ประกอบการ ศูนย์รวบรวมนมดิบต้องมีแผนล่วงหน้าในการบริหารนม หากนำนมมาเททิ้ง จะตรวจสอบว่านำนมมาจากแหล่งใด ผ่านคุณภาพหรือไม่ หากนมไม่มีคุณภาพจะพิจารณาลงโทษ อาจถึงขั้นตัดสิทธิเพราผิดสัญญาในเงื่อนไขคุณสมบัติที่เข้ารับโควตานมโรงเรียนทันที โดยสหกรณ์ต้องพัฒนาศักยภาพสามารถนำน้ำนมดิบไปเข้าตลาดนมพาณิชย์ได้ เพิ่มโอกาสช่องทางจำหน่ายนอกจากการส่งนมโรงเรียนด้วย และการรับซื้อน้ำนมดิบจากแหล่งที่มีคุณภาพดีผ่านการรับรองของกรมปศุสัตว์ ได้ตลอดทั้งปีจากเกษตรกรในมาตรการป้องกันนมดิบล้นตลาด โดยเด็กนักเรียนกว่า 7.4 ล้านคน ได้ดื่มนมทุกวันผลิตจากนมโคแท้ๆ 260 วันเป็นหัวใจหลักของโครงการนมโรงเรียน ในปีนี้ยังปรับแก้ให้นำพ.ร.บ. เกษตรพันธสัญญามาใช้บังคับในการทำที่ผู้ประกอบการรับซื้อน้ำนมจากกลุ่มเกษตรกร จากเดิมใช้การทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซึ่งไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย หากผู้ประกอบการแจ้งปริมาณรับซื้อน้ำนมจากกลุ่มเกษตรกรเพื่อแลกโควตานำเข้านมผงในอัตราภาษีต่ำ รวมถึงไม่สามารถลงโทษได้ หากผู้ประกอบการไม่รับผิดชอบรับซื้อน้ำนมดิบตลอด 365 วัน
“ปริมาณน้ำนมดิบทั้งประเทศเฉลี่ย 3,300 ตันต่อวัน แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ นำเข้านมโรงเรียนประมาณ 1,100 ตัน ที่เหลือนไปผลิตนมพาณิชย์ และอีกส่วนหนึ่งบริษัทใหญ่รับซื้อน้ำนมดิบเพื่อนำไปแลกโควตานำเข้านมผงซึ่งมีราคาต่ำกว่าน้ำนมดิบ ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกว่า 20,000 ราย โคนมกว่า 600,000 ตัว ซึ่งกลุ่มเกษตรกรจะส่งมาที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 200 กว่าศูนย์ทั่วประเทศ ทั้งนี้กรมปศุสัตว์สุ่มตรวจทั่วประเทศเดือนละ1ครั้งเพื่อให้น้ำนมที่ใช้ผลิตนมโรงเรียนมีสารอาหารครบถ้วนและปลอดเชื้อก่อโรค ส่วนโครงนมโรงเรียนรัฐให้งบ7บาทเฉลี่ยต่อหัวเด็กนักเรียน/กล่อง/ถุง ผู้ประกอบการนมโรงเรียน ต้องมีสัญญากับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ รับซื้อจากเกษตรกร” นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าว
มีรายงานถึงที่มีการกล่าวอ้างว่า มิลค์บอดร์ดไม่พอใจผลการจัดสรรโควตานมโรงเรียน แล้วจะนำนมมาเททิ้งเพื่อประท้วงนั้น เป็นการให้ข่าวโดยผู้ประกอบการที่ไม่พอใจที่ได้รับการจัดสรรโควต้าลดลง โดยไม่ยอมรับว่า เด็กนักเรียนมีจำนวนลดลง ผู้ประกอบการบางรายศึกษาข้อกำหนดไม่ชัดเจน นำปริมาณน้ำนมดิบบางส่วนไปยื่นขอโควต้านอกพื้นที่จึงถูกตัดสิทธิที่ไปยื่นขอในกลุ่มพื้นที่อื่น ส่วนข้อเรียกร้องว่า ปริมาณน้ำนมที่จำหน่ายเพื่อขอโควต้านำเข้านมผงแล้วให้ตัดออก คณะอนุกรรมการจัดสรรสิทธิได้ปรับลดตามสัดส่วนอย่างเท่าเทียมกันทุกราย ผู้ประกอบการที่ไม่พึงพอใจนั้น บางรายเป็นกรรมการในมิลค์บอดร์ด แต่ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นประธานมิลค์บอร์ดยืนยันว่า มิลค์บอร์ดยังไม่ได้มีการประชุมใดๆ และไม่เกี่ยวข้อง เป็นปัญหาของผู้ประกอบการที่ต้องการสิทธิเพิ่ม แล้วนำมิลค์บอร์ดมากล่าวอ้าง . – สำนักข่าวไทย