ลพบุรี 17 พ.ค. – ประชาชนชาวจังหวัดลพบุรี และใกล้เคียงกว่าหมื่นคน ได้ร่วมงานประเพณี แห่พระศรีอริยเมตไตรย ประจำปี 2562
ประชาชนชาวจังหวัดลพบุรี และใกล้เคียงกว่าหมื่นคน ได้ร่วมงานประเพณี แห่พระศรีอริยเมตไตรย วัดไลย์ ประจำปี 2562 ซึ่งประเพณีชักพระศรีอาริย์ หรือแห่พระศรีอาริย์ วัดไลย์ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาช้านาน ชาวบ้านเชื่อกันว่าพระศรีอาริย์หรือพระศรีอริยเมตไตรย จะมาตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ในโลกมนุษย์หลังจากสิ้นสุดศาสนาของพระมหาสมณโคดมแล้วห้าพันปี เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา เรียกว่า ศาสนาพระศรีอาริย์ จึงได้มีการสร้างรูปพระศรีอาริย์ขึ้น เพื่อเป็นการเคารพสักการะโดยเชื่อกันว่าจะได้ไปเกิดในยุคศาสนาของพระศรีอาริย์ จะทำให้มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข
ปัจจุบัน ประเพณีชักพระศรีอาริย์ได้เปลี่ยนมาจัดงานในฤดูแล้ง คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นประเพณีแห่พระทางสถลมารค แต่พิธีต่างๆ ยังคงอนุรักษ์แบบแผนเดิมไว้ มีการจัดขบวนแห่อัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์ขึ้นประดิษฐานบนตะเฆ่ ชนิดไม่มีล้อ ทำเป็นบุษบกมีหลังคา หรือ ทำเป็นฉัตรกั้นแล้วใช้เชือกขนาดใหญ่สองเส้นผูกเป็นสองแถว และให้ประชาชนทั้งหลายที่มาร่วมขบวนช่วยกันลากไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ เมื่อถึงเวลาเริ่มพิธีจะจุดพลุ พร้อมตีกลองและระฆังเป็นสัญญาณเริ่มการฉุดลากตะเฆ่ เพื่ออัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์แห่ผ่านหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งตลอดระยะทางจะมีผู้มาตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารหลากหลายชนิด มีทั้งข้าวต้ม ข้าวแกง ขนมจีนน้ำยา อาหารคาวหวาน นอกจากนี้ยังมีดนตรีหรือการละเล่นต่างๆ เมื่อไปถึงสถานที่ซึ่งสุดเส้นทางที่กำหนดไว้แล้วจะให้ประชาชนได้สรงน้ำพระศรีอาริย์ และนมัสการปิดทอง ครั้นได้เวลาอันสมควรแล้วก็จะนำขบวนแห่กลับวัด พอถึงวัดจะอัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์ขึ้นประดิษฐานยังวิหารตามเดิม และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้นมัสการปิดทอง ตอนกลางคืนจะมีมหรสพต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ ลิเก
วัดตาปะขาวหาย ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานเปิดโครงการมหกรรมของดีประเพณีกวนข้าวทิพย์ โดยเทศบาลตำบลหัวรอร่วมกับวัดตาปะขาวหาย และชาวตำบลหัวรอ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และฟื้นฟูประเพณีการกวนข้าวทิพย์ ประเพณีโบราณที่สูญหายไปนานกว่า 70 ปี ซึ่งการกวนข้าวทิพย์เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวบ้านตำบลหัวรอ ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน โดยที่เป็นสีสันของงานในปีนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้แต่งกายเป็นพระอินทร์เปิดงานและร่วมกวนข้าวทิพย์กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลหัวรอด้วย
ในงานมีกิจกรรมสืบสานดนตรีมังคละที่ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวจังหวัดพิษณุโลกพร้อมนางรำกว่า 100 ชีวิตรำประกอบถวายแด่องค์เทพตาประขาวหาย เทวดา ฟ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การออกร้านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับตำบลหัวรอ เช่น พระพุทธชินราช ผลิตภัณฑ์สบู่น้ำยาอเนกประสงค์ เครื่องปั้นดินเผ่าเตาไห น้ำมันเหลือง ดอกไม้การบูร สินค้าทางการเกษตรทั้งแปรรูปและไม่แปรรูป
ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นอาหารสมัยพุทธกาล หมายถึง อาหารอันโอชะ ที่มีเครื่องปรุงถึง 108 ชนิด (หากทำแบบโบราณ) แต่โดยหลักๆ มี 9 อย่าง คือ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นมข้น ถั่ว งา และข้าวเม่า ซึ่งการกวนแต่ละครั้งจะต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ต้องใช้สาวพรหมจารีย์กวน ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์ หรือไม้พุทรา เท่านั้นส่วนไฟจะต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า “สุริยกานต์” เป็นต้น โดยในปีนี้ได้กวนข้าวทิพย์กว่า 20 กิโลกรัมเพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์ในวันวิสาขาบูชาต่อไป
โรงเรียนอนุบาลสมุทรสงครามนำนักเรียนกว่า 1,000 คน ร่วมเวียนเทียนแสดงตนเป็นพุทธมามกะถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาและวันสำคัญของโลกเพื่อปลูกฝังให้นักเรียนคุณธรรมจริยธรรมในจิตใจ โดยร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถ 3 รอบ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธคุณ,พระธรรมคุณและพระสังฆคุณ และถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาและวันสำคัญของโลก วันที่ 18 พฤษภาคมนี้ บางส่วนนำภาพวาดระบายสีเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาฝีมือของตนเองมาร่วมเวียนเทียน เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว อีกทั้งเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชาให้กับเด็กนักเรียนให้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ดำรงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป จากนั้น พระครูพิธานรัตนปราการ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ได้บรรยายธรรมเรื่องของ เทศกาลวิสาขบูชาและวันสำคัญของโลกให้เด็กๆ ได้ รับรู้ถึงความสำคัญของวันนี้ .- สำนักข่าวไทย