รร.รามาการ์เด้น 17 พ.ค.- ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย และภาคีเครือข่าย เรียกร้อง ให้เก็บอัตราภาษีบุหรี่เท่ากันทุกซอง ในร้อยละ 40 ของราคาบุหรี่
ในการแถลงข่าวTobacco burns your lungs “บุหรี่เผาปอด”นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การสูบบุหรี่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนและคนยากจนเสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต การสูบบุหรี่ส่งผลทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจวาย และโรคปอด เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของหลายๆ ประเทศทั่วโลกว่าการขึ้นภาษีบุหรี่นั้น เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันและทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ องค์การอนามัยโลกขอแนะนำว่าระบบการเก็บภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียวนั้น ดีกว่าแบบ 2 อัตรา ซึ่งอาจจะทำให้นักสูบหันไปใช้บุหรี่ที่มีราคาถูกกว่าได้ เช่น จากที่บุหรี่ที่ขายราคา 60 บาทหรือต่ำกว่า คิดอัตราภาษีร้อยละ 20 ตามมูลค่า และบุหรี่ที่ขายอัตราเกินซองละ 60 บาท อัตราภาษีร้อยละ 40 ควรจะเป็นอัตราเดียวที่ร้อยละ 40 ของบุหรี่ทุกราคา
ด้าน พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีการเก็บอัตราภาษี 2 แบบ ไม่เท่ากัน ระหว่างบุหรี่ที่ผลิตในประเทศ และบุหรี่นำเข้า โดยการจัดเก็บขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 20 บุหรี่ผลิตในประเทศ ขณะที่บุหรี่นำเข้าอัตราเก็บอยู่ที่ร้อยละ 40 แต่หากมีการเก็บภาษีเท่ากันหมดในอัตราร้อยละ 40 ก็จะทำให้คนไม่หันไปหาบุหรี่ราคาถูก และควรทำให้ราคาบุหรี่ มีราคาสูงพอๆกับค่าครองชีพ เพื่อให้ตัดสินใจเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น. ในต่างประเทศขณะนี้กำลังรณรงค์ให้มีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ในอัตราเดียว และการจัดเก็บภาษีก็ไม่ได้ทำให้รายได้ของประเทศลดลง
พร้อมกันนี้ยังชี้ว่าบุหรี่ยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากค่ารักษาพยาบาลปีละ 77,626 ล้านบาท ความสูญเสียจากการที่ต้องขาดรายได้เนื่องจากเจ็บป่วยปีละ 11,762 ล้านบาท และความสูญเสียอันเกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละ 131,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นความสูญเสียรวมทั้งหมดปีละ 220,461 ล้านบาท (หรือเฉลี่ย 20,565 บาทต่อผู้สูบบุหรี่ 1 คนต่อปี) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้จากภาษีบุหรี่แล้วต่างกันถึง 3.2 เท่า ดังนั้นถือว่าไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียที่เกิดขึ้น
พญ.เริงฤดี ยังกล่าวว่า ในการจัดเก็บภาษีควรเก็บยาเส้นด้วย เนื่องจากไม่แตกต่างจากบุหรี่มีสารพิษเท่ากับบุหรี่มวนทุกอย่าง และข้อมูลปี 2560 จากคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่รวม 72,656 คน โดยร้อยละ 49 เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ คือ เป็นมะเร็งปอด 13,727 คน ถุงลมปอดพอง 10,852 คน โรคปอดอักเสบและวัณโรคปอด 10,833 คน รวมเท่ากับ 35,412 คน ซึ่งหากรวมจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองปีละ 8,278 คน ที่ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคปอดแล้ว จะรวมเป็นคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 4 หมื่นคน.-สำนักข่าวไทย