กทม.13 พ.ค.-เปิดเทอมใหม่ ค่าใช้จ่ายประจำวัน-ค่าเล่าเรียน-ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทำพ่อแม่เครียด อยากให้รัฐช่วยค่าเทอม ชุดอุปกรณ์การเรียนและเรียนฟรี พร้อมแก้ปัญหาเรื่องรถติดและค่าใช้จ่าย
สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องเปิดเทอมใหม่2562 กรณีศึกษา : ตัวอย่างประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไปที่มีบุตรศึกษาอยู่ในระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช.ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น1,216 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 27 เม.ย.–10 พ.ค.2562 ที่ผ่านมา พบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ (ร้อยละ92.69) มีบุตรที่กำลังเรียนอยู่ในระดับอนุบาล-มัธยมปีที่ 6/ปวช.จำนวน1-2 คน มีบางส่วน (ร้อยละ 7.31) มีบุตรที่กำลังเรียนอยู่ ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 82.30)อาศัยอยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ผู้ปกครอง อีกร้อยละ 24.12 อาศัยอยู่กับญาติ สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนของบุตรนั้น ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60.86) ระบุว่าตนและคู่สมรสร่วมกันร้บผิดชอบ อีกร้อยละ 32.89 ระบุตนเป็นผู้รับผิดชอบคนเดียว ที่เหลือระบุญาติเป็นผู้รับผิดชอบ
ส่วนเงินที่นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนของบุตร พบว่าเก็บเงินเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้ว(ร้อยละ 67.05)บ้างก็รอเงินเดือนงวดล่าสุด (ร้อยละ 60.36) บางคนต้องนำทรัพย์สินไปจำนำ (ร้อยละ 17.59) และบางคนต้องหยิบยืมจากญาติพี่น้อง (ร้อยละ 12.63) เพื่อมาจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น
สำหรับค่าใช้จ่ายในการเรียนหลักๆ ได้แก่ ค่าเทอม (ร้อยละ 95.23) ค่าชุดนักเรียน/เครื่องแบบ (ร้อยละ 81.41) ค่ากระเป๋า/อุปกรณ์การเรียน (ร้อยละ 64.64) ค่าเรียนพิเศษ (ร้อยละ 62.75) ค่าหนังสือเรียน (ร้อยละ 61.18) และค่ารองเท้า (ร้อยละ 60.20) เป็นต้น โดยครอบครัวส่วนใหญ่เตรียมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนของบุตรทุกคนในช่วงเปิดเทอมนี้ไว้โดยเฉลี่ย 20,035 บาท
ด้านปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเรียนของบุตร ใน 5 อันดับแรก พบว่า มีค่าใช้จ่าย/ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 76.01) ค่าเล่าเรียนสูงขึ้น (ร้อยละ70.89) ชุดนักเรียน/อุปกรณ์การเรียนแพงขึ้น (ร้อยละ 65.18) เงินอุดหนุนจากรัฐไม่เพียงพอ (ร้อยละ 22) และมีลูกที่ต้องเข้าเรียนเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 20.02) เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกือบครึ่ง (ร้อยละ 48.48) มีความเครียดในเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนของบุตรมากถึงมากที่สุด
เมื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองเปรียบเทียบสภาพการศึกษาของไทยในปัจจุบันกับที่ผ่านมา พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่ง(ร้อยละ 49.42) มองว่าดีกว่าในอดีต อีกร้อยละ38.55 ระบุพอ ๆ กับในอดีต และเมื่อให้เปรียบเทียบมาตรฐานการ ศึกษาของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน พบว่าร้อยละ 40.17 เห็นว่าดีกว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน อีกร้อยละ 41.32 ระบุพอๆ กับประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ (ร้อยละ 42.33) ยังมั่นใจมากถึงมากที่สุดว่านโยบายและระบบการศึกษาของไทยจะช่วยพัฒนาบุตรของตนได้เป็นอย่างดี
ในแง่ของการส่งเสริมการเรียนและทักษะต่างๆ ให้แก่บุตรพบว่าร้อยละ 38.46 ให้เรียนพิเศษในโรงเรียนเพราะอยากให้อยู่ในการดูแลของครู ประหยัดค่าใช้จ่ายและช่วยเพิ่มความรู้ เป็นต้น อีกร้อยละ40 ให้เรียนพิเศษนอกโรงเรียนเพราะสถาบันติวมีคุณภาพ ครูมีความเชี่ยวชาญและให้บุตรมีสังคมใหม่ๆเป็นต้น ที่เหลือร้อยละ21.51 ยังไม่ได้วางแผน ส่วนทักษะที่ควรเสริมให้เด็กไทยใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ด้านภาษา (ร้อยละ 93.39) ด้านอารมณ์ (ร้อยละ 43.19) ด้านคุณธรรม (ร้อยละ 31.30) ด้านการเข้าสังคม (ร้อยละ 29.64)และด้านกีฬา (ร้อยละ 29.15) เป็นต้น
ส่วนเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลาน ได้แก่ ช่วยเหลือค่าเล่าเรียนหรือลดค่าเล่าเรียน (ร้อยละ 77.33) เพิ่มเงินช่วยค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน (ร้อยละ 52.93) ให้เรียนฟรี โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม (ร้อยละ 50.43) เป็นต้น
ส่วนปัญหาในช่วงเปิดเทอมที่อยากให้รัฐบาลช่วยแก้ไขคือปัญหาการ จราจร (ร้อยละ 66.50) และค่าใช้จ่ายในการเรียนสูง (ร้อยละ 35.80) เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย