นนทบุรี 7 พ.ค. – คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์เคาะมาตรการดูแล ชง กกร. 10 พ.ค.นี้ สั่งโรงพยาบาลเอกชนปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน นำราคาขึ้นเว็บไซต์ และเปิดทางให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อยานอกโรงพยาบาลได้
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อมูลที่คณะทำงานศึกษาโครงสร้างต้นทุนที่มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานเสนอต้นทุนราคายาให้พิจารณา โดยมีผลการศึกษาวิเคราะห์พบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีต้นทุนยาแตกต่างแต่ใกล้เคียงกัน แต่มีราคาจำหน่ายแตกต่างกันมาก แม้จะเป็นยาชนิดเดียวกัน โดยมีกำไรตั้งแต่ไม่มากจนสูงถึงระดับร้อยละ 300 , 500 , 800 และ 900 ซึ่งรายการยาที่นำมาวิเคราะห์ได้ยึดตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิ์ทุกที่ (UCEP) ที่มีรายการยาจำเป็น 3,892 รายการ จากบัญชีข้อมูลรายการยาและรหัสยามาตรฐานของไทย (TMT) ที่มีอยู่ 30,103 รายการ
สำหรับมาตรการที่จะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 จะเป็นมาตรการที่นำมาใช้ภายใต้กฎหมายที่หน่วยงานเกี่ยวข้องมีอยู่ ทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข แต่มีหลัก คือ ต้องเป็นธรรมทั้งกับผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มี พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 สามารถกำหนดให้มีการปิดป้ายแสดงราคา หากมีการจำหน่ายเกินราคา ก็จะมีโทษตามกฎหมาย เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่ายังขาดข้อมูลเกี่ยวกับรายการเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ จึงได้มอบหมายให้คณะทำงานไปพิจารณาจัดทำฐานข้อมูลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลยาที่มีอยู่ โดยปัจจุบันมีข้อมูลเวชภัณฑ์ประมาณ 868 รายการ และบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการ
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า มาตรการที่คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาและจะนำเสนอให้ กกร.พิจารณาวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ คือ การกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนเผยแพร่ราคายา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์บนเว็บไซต์ของโรงพยาบาล และต้องปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน และให้โรงพยาบาลยอมให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากภายนอกได้ โดยในใบสั่งยาแพทย์ต้องเขียนชื่อยาให้ชัดเจน ทั้งชื่อทางการค้า ชื่อทางวิทยาศาสตร์ และยังเสนอให้ใช้มาตรการเพิ่มเติมในการดูแลผู้บริโภคด้านการรักษาพยาบาล โดยมีข้อเสนอให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดูแลให้ความเป็นธรรมบริการทางการแพทย์ ซึ่งในส่วนกลางมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน ในต่างจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีหน้าที่ในการดูแลและให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคกรณีการเข้าไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน แล้วถูกคิดค่าบริการจากการให้บริการเกินความจริง เช่น ปวดท้อง ปวดหัว แต่จับทำซีทีสแกน (การถ่ายภาพโดยการฉายรังสีผ่านอวัยวะ) ทำให้ถูกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มและเกินจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย