กรุงเทพฯ 7 พ.ค. – กฟผ.มั่นใจจะเร่งเผยแพร่ผลวิจัยนำรถยนต์เก่ามาติดตั้งเครื่องยนต์ไฟฟ้า “อีวี” และอู่รถยนต์จะเริ่มให้บริการแก่รถเก่าได้ พร้อมเดินหน้าใช้งบ 1,000 ล้านบาท ปั้นนวัตกรรมพลังงาน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงาน EGAT INNOVATION SHOWCASE 2019 ภายใต้แนวคิด “EGAT Digital Transformation” พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุคดิจิทัล ด้วยการสร้างสรรค์ โดยจัดงานที่สำนักงานใหญ่ กฟผ.ในวันที่ 7-8 พฤษภาคม
นางสาวจิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี ส่งเสริมให้พนักงานและองค์กรวิชาการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน โดยเสนอนวัตกรรมพลังงานกว่า 36 ผลงาน เพื่อช่วยเสริมศักยภาพความมั่นคงระบบผลิต – ส่งไฟฟ้าสู่การเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าดิจิทัลเพาเวอร์แพลนท์ ที่รองรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ที่จะทำให้ความสามารถของโรงไฟฟ้าหลักปรับตัวทำงานรองรับสร้างความมั่นคงได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน กฟผ.ยังได้วิจัยด้านพลังงานรูปแบบอื่น เช่น การดัดแปลงรถเก่าให้เป็นรถอีวี ซึ่งคาดว่าปีหน้าจะสามารถสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมให้อู่รถยนต์ต่าง ๆ ดัดแปลงรถเก่าให้เป็นรถอีวีได้ ซึ่งต้นทุนดัดแปลงอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท/คัน ในส่วนนี้ยังไม่รวมค่าแบตเตอรี่ โดยราคาแบตเตอรีขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท และคาดว่าราคาจะลดต่ำลงเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ กฟผ.ได้ส่งเสริมการคิดค้นผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เช่น ระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะ สามารถประมวลผลและคำนวณแนวทางสั่งการกลุ่มโรงไฟฟ้าที่กำหนดให้มีกำลังผลิตที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น (Real Time) ช่วยรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบส่งกำลังไฟฟ้าได้อย่างอัตโนมัติ โดยได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ,ชุดตรวจสอบการลัดวงจรในโรเตอร์ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator Rotor Short – Turn Detector) ช่วยแก้ปัญหาการลัดวงจรในโรเตอร์ที่อาจส่งผลให้เกิดการสั่นสะเทือนสูงและสร้างความเสียหายแก่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ โดยชุดตรวจสอบทำให้สามารถเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงลดค่าสูญเสียโอกาสในการขายไฟคิดเป็นมูลค่ากว่า 35 ล้านบาท ซึ่งมีการติดตั้งใช้งานชุดตรวจสอบแล้วกว่า 11 เครื่อง
นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีหลายโครงการที่เข้าข่ายจะยื่นข้อเสนอฯ โครงการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน ( ERC Sandbox ) เช่น การศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น Peer to Peer Energy Trading ที่ปัจจุบัน กฟผ.ได้ทดลองติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใช้งานร่วมกับแบตเตอรี่ และระบบควบคุมภายในสำนักงานใหญ่ กฟผ., โครงการ EV และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เป็นต้น ซึ่ง สกพ.กำหนดให้ส่งข้อมูลวันที่ 28 พฤษภาคมนี้.-สำนักข่าวไทย