กรุงเทพฯ 7 พ.ค. – FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงร้อยละ 2.83 อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นเดือนที่ 2 โดยการเมืองในประเทศเรื่องตั้งรัฐบาลใหม่เป็นปัจจัยสำคัญ
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนพฤษภาคม 2562 พบว่า ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนในช่วง 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงร้อยละ 2.83 มาอยู่ที่ระดับ 104.49 ลดลงเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นเดือนที่ 2 โดยกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงจากเดือนก่อนจากเกณฑ์ร้อนแรงมาอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัว กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์ทรงตัวมาอยู่ที่เกณฑ์ร้อนแรง
ปัจจัยการเมืองในประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่นักลงทุนจับตามองต่อเนื่อง จากสถานการณ์ทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลที่คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้หนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมา คือ การไหลเข้า-ออกของเงินทุนระหว่างประเทศ และปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางการเมืองจากความกังวลเสถียรภาพรัฐบาลชุดใหม่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ตามด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศและภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ผลสำรวจยังพบว่านักลงทุนสนในลงทุนหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดพาณิชย์และหมวดการแพทย์มากที่สุด ขณะที่มองว่า หมวดเหมืองแร่ หมวดสิ่งพิมพ์ และหมวดธนาคารไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด
ในช่วงเดือนเมษายน 2562 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1,644-1,675 จุด ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทาง Sideway Up โดยทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดยังคงเป็นปัจจัยในประเทศจากสถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ระหว่างการประกาศผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 ขณะที่ปัจจัยการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและปัจจัยทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นในลำดับรองลงมา ขณะที่ความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งยังคงเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศและภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง จากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการปรับคาดการณ์ลดลง
สำหรับปัจจัยยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความเป็นไปได้กรณีปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดและผลกระทบ ความคืบหน้าและการคาดหวังการบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศสหรัฐและจีนร่วมกันในเดือนพฤษภาคม 2562 กรณีพิพาทระหว่างสหรัฐและสหภาพยุโรป(อียู) ในเรื่องการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมการบินที่อาจส่งผลต่อการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน โมเมนตั้มทางเศรษฐกิจของอียูที่อ่อนแอลงและเศรฐษกิจยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงต่อจากนี้ และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปี ทิศทาง BREXIT ภายหลังการเลื่อนเส้นตายข้อตกลงจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 แนวโน้มการชะลอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลัง จีดีพีไตรมาส 1 ของจีนขยายตัวร้อยละ 6.4 ดีกว่าคาด และผลกระทบราคาน้ำมันภายหลังสหรัฐยุติผ่อนผันการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน เป็นปัจจัยต้องติดตาม
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ผลจากค่าดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับร้อยละ 1.75 ต่อปี ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในอีก 10 สัปดาห์ข้างหน้านับจากวันที่ทำการสำรวจ (19 เม.ย.) ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัว รวมถึงการยังคงอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกของประเทศต่าง ๆ.-สำนักข่าวไทย