สธ.6 พ.ค.-รพ.สมุทรปราการ รุก ‘สมาร์ท ฮอสปิทัล’ ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ลดแออัด ลดรอคอย เชื่อมโยงระบบข้อมูลกับโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่งต่อผู้ป่วยด้วยระบบบล็อกเชน และปัญญาประดิษฐ์ช่วยจัดยา อ่านฟิล์มเอกซเรย์ อ่านภาพจอประสาทตา
นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเยี่ยมติดตามความก้าวหน้าระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศของโรงพยาบาลสมุทรปราการ ว่า โรงพยาบาลสมุทรปราการ ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เป็นสมาร์ท ฮอสปิทัล (Smart Hospital) สามารถลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยการรักษาผู้ป่วยนัดจาก 440 นาที เหลือเพียง 120 นาที
โดยได้ปรับภูมิทัศน์และโครงสร้างพื้นฐาน สะอาด สวยงาม สะดวก นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการและระบบบริการ เช่น ใช้บัตรสมาร์ทการ์ดใบเดียว ให้บริการอัตโนมัติในการตรวจสอบสิทธิ การระบุตัวผู้ป่วย มีระบบนัดหมายออนไลน์/เหลื่อมเวลา จอภาพบอกคิวการรักษาในจุดบริการที่มีผู้รับบริการมาก แพทย์บันทึกข้อมูลการรักษาลงในระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital Information System : HIS) และสั่งยาด้วยระบบอิเล็คทรอนิกส์โดยใช้เสียงสั่งพิมพ์ (Paperless) ต่างกับระบบแพทย์บันทึกข้อมูลการรักษาบนกระดาษ แล้ว scan เก็บไว้ จัดยาด้วยปัญญาประดิษฐ์ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลสมุทรปราการกับโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 5 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขตเมือง 21 แห่ง ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลผู้ป่วย (Block Chain) รวมทั้งมีการจัดทำฐานข้อมูลบริการและทรัพยากรของโรงพยาบาล (Big Data) ที่เป็นปัจจุบันและเชื่อมโยงกันทุกระบบ ทำให้ผู้บริหารมีข้อมูลสำหรับวางแผนการบริหารจัดการโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน พญ.ฤทัย วรรธนวินิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ กล่าวว่า โรงพยาบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาสู่สมาร์ท ฮอสปิทัล เริ่มตั้งแต่ปี 2560 โดยมีทีมเจ้าหน้าที่ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาให้มีความรู้ทักษะในการใช้เทคโนโลยี เพื่อร่วมกันออกแบบรูปแบบบริการใหม่ (Redesign workflow) ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น ด้วยแนวคิดลีน (Lean) เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้เสริมบริการให้ดียิ่งขึ้น ช่วยลดระยะเวลารอคอยการรักษา ตั้งเป้าหมายในปี 2564 ขั้นตอนบริการผู้ป่วยนอกให้เหลือ 3 ขั้นตอน จากเดิม 11 ขั้นตอน ใช้เวลาเพียง 24 นาที คือ 1.คัดกรอง ซักประวัติ ตรวจร่างกาย เตรียมตัวก่อนเข้าตรวจ ผ่านเครื่องมือ IOT ร่วมกับ AI Chatbot 8 นาที 2.พบแพทย์และแนะนำผู้ป่วยหลังตรวจ 8 นาที และ 3.รับยาและจ่ายเงินผ่านเครื่องคีออส (Kiosk) 8 นาที
นอกจากนี้ส่งเสริมศักยภาพ รพ.สต. ให้สามารถดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นได้ มีระบบการปรึกษาทางไกล (Telemedicine) ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล .-สำนักข่าวไทย